อากาศร้อนสุดขั้วในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา ตามมาด้วยฝนห่าใหญ่ที่ตกแบบไม่ลืมหูลืมตาเมื่อเข้าสู่ฤดูมรสุมไม่ต่างจากเสียงตะโกนว่าภูมิอากาศของไทย ‘ผิดปกติ’ แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปรากฎการณ์ทางธรรมชาติอย่างเอลนีโญและลานีญา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความผิดปกติเหล่านี้อาจมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในภาวะที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจากความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
เมื่อใดก็ตามที่พูดถึงประเด็นนี้ ภาพในจินตนาการของเราอาจนึกถึงเหล่าเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติหรือแรงงานที่ทำงานกลางแจ้งท่ามกลางอากาศร้อน ในภาวะแบบนี้ เราจึงหวังพึ่งพาความช่วยเหลือภาครัฐและแรงผลักดันระดับโลกเพื่อช่วยให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่คนจำนวนไม่น้อยกลับมองข้าม ‘ภาคธุรกิจ’ เนื่องจากภาคธุรกิจคือตัวการสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ และขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจเองก็กำลังเผชิญความเสี่ยงมหาศาลจากความแปรปรวนของสภาพอากาศเช่นนี้ เราจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาคธุรกิจคือกุญแจสำคัญที่จะพาไปสู่ทางออกวิกฤตโลกรวน หากว่าภาคธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำได้
แต่หากโลกเราไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ผลจะเป็นอย่างไร?
ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ต่างพยายามคำนวณว่าหากภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไปโดยที่เราไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร ตัวเลขที่คำนวณออกมานับว่าค่อนข้างแตกต่างหลากหลาย แต่ผู้เขียนขอหยิบยกตัวเลขจากงานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมาในวารสาร Nature ซึ่งประมาณการว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะอยู่ที่ราว 38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยในปี 2050 จะอยู่ในช่วง 19-59 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการลดลงของรายได้ราว 19 เปอร์เซ็นต์
ตัวเลขข้างต้นคำนวณมาจากผลกระทบจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น, การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบและปริมาณน้ำฝน รวมถึงความผันผวนของอุณหภูมิ และหากคำนวณเอาผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว เช่น พายุ หรือไฟป่า ตัวเลขก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก
แต่ก่อนจะกระโดดไปที่ตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจซึ่งถือเป็น ‘ปลายทาง’ ในบทความนี้ ผู้เขียนอยากชวนทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าส่งผ่านมายังภาคธุรกิจได้อย่างไร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น สองประเภทคือ ความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk) และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน (transition risk)
ความเสี่ยงทางกายภาพจากภาวะโลกรวน
สภาวะโลกร้อนส่งผลให้สภาพอากาศสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนอย่างที่เกิดในช่วงเมษายนที่ผ่านมา หรือมหาอุทกภัยเฉกเช่นเมื่อ พ.ศ. 2554 เกิดบ่อยครั้งยิ่งขึ้นและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ภัยพิบัติดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา งานวิจัยพบว่าคลื่นความร้อนทำให้ผลิตภาพของแรงงานที่ทำงานกลางแจ้งลดลง หรืออาจถึงขั้นไม่สามารถทำงานได้ ส่วนเหตุการณ์ภัยพิบัติก็อาจทำให้อุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก รวมถึงก่อให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องจักรและโรงงาน
กลุ่มธุรกิจที่นับว่าเปราะบางที่สุดคือภาคการเกษตร เพราะพืชผลอย่างข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา ต่างอ่อนไหวต่ออุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งสิ้น การศึกษาโดย รศ.ดร. วิษณุ อรรถวานิช นักเศรษฐศาสตร์ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตรประมาณการว่าตัวเลขผลกระทบอาจสูงถึง 1.7–8.3 หมื่นล้านบาทต่อปี
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือการท่องเที่ยว ภัยพิบัติที่รุนแรงและบ่อยครั้งยิ่งขึ้นย่อมทำให้ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวหดหาย ตัวอย่างเช่นไฟป่าและการเผาพื้นที่การเกษตรทางภาคเหนือที่ส่งผลให้เมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ประสบปัญหานักท่องเที่ยวหดตัวแม้ว่าจะเป็นหน้าเทศกาลก็ตาม
นอกจากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวแล้ว ความเสี่ยงด้านกายภาพยังรวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง อัศมน ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ประมาณการว่าในฉากทัศน์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง ระดับน้ำทะเลของไทยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 38 เซนติเมตรภายในปี 2050 และ 99 เซนติเมตรภายในปี 2100 ตัวเลขดังกล่าวนับว่าน่ากังวล เพราะย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อศูนย์กลางทางเศรษฐกิจไทย คือกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่มาก
อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านหลายคนอาจคิดว่าความเสี่ยงข้างต้นไม่ได้แปลกใหม่นัก เพราะประเทศไทยก็เผชิญภัยพิบัติไม่ว่าจะน้ำท่วมน้ำแล้งอยู่บ่อยครั้ง ส่วนผลกระทบอย่างระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นก็ยังดูไกลตัวเกินไปจนไม่น่ากังวล ผมเลยอยากแนะนำให้รู้จักความเสี่ยงอีกประเภทซึ่งกระทบทุกธุรกิจอย่างถ้วนหน้าและอยากจะหลีกเลี่ยง นั่นคือ ‘ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนผ่าน’
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่กระทบต่อภาคธุรกิจอาจแบ่งออกเป็นสามส่วนหลักคือ ความเสี่ยงจากกฎระเบียบทั้งในไทยและในต่างประเทศ ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี และความเสี่ยงจากพฤติกรรมผู้บริโภค เดิมทีทั้งสามเรื่องดูจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวมากๆ แต่นับวันความเสี่ยงเหล่านี้ก็จะชัดเจนและน่ากังวลมากขึ้นทุกขณะ
เริ่มจากความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่กระทบภาคส่งออกของประเทศไทยอย่างจังจนเหล่านักธุรกิจต่างกระวนกระวายไปตามๆ กัน นั่นคือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งหากเทียบง่ายๆ คือการเก็บภาษีคาร์บอนสินค้านำเข้าในบางอุตสาหกรรมเพื่อช่วยให้ธุรกิจภายในสหภาพยุโรปที่ต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์ซึ่งเข้มงวดกว่าที่อื่นสามารถแข่งขันได้ โดยกฎเกณฑ์ลักษณะนี้อาจมีขอบเขตครอบคลุมและเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
ส่วนในประเทศไทยเองก็มีความเคลื่อนไหวสำคัญคือการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือกฎหมายโลกร้อนที่ฉบับล่าสุดมีการระบุเรื่องการจัดทำบัญชีคาร์บอน ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Emission Trading System) และการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งหากมีการบังคับใช้จริงย่อมส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนแบบถ้วนหน้าโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนเข้มข้น
ขณะที่ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีก็นับว่าชัดเจนเช่นกัน หลักฐานเชิงประจักษ์คือยานยนต์ไฟฟ้าที่ปรากฏตัวเกลื่อนถนนเมืองไทยภายในระยะเวลาไม่กี่ปีซึ่งกลายเป็นความเสี่ยงต่อภาคการผลิตรถยนต์สันดาปของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนก็มีต้นทุนต่ำลงทุกปี โดย Bloomberg New Energy Finance เปิดเผยในปี 2022 ว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าปรับระดับ (Levelized Cost of Electricity หรือ LCOE) ของพลังงานแสงอาทิตย์ 1 หน่วยต่ำกว่าการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ
แนวโน้มในประเทศไทยก็สอดคล้องกับสถิติดังกล่าว เปรียบเทียบง่ายๆ กับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของไทยราคาอยู่ที่ราว 4–5 บาทต่อหน่วย ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากครัวเรือนในราคาเพียง 2.20 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
หากรัฐไทยเลือกเดินหน้าตามแผนเดิมที่กำหนดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ในปี 2065 ซึ่งนับว่าล่าช้ากว่าประเทศต่างๆ สุดท้ายเศรษฐกิจไทยก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่สูงกว่าต่างประเทศที่หันไปใช้พลังงานหมุนเวียน อีกทั้งยังมีความน่าสนใจน้อยกว่าเพราะยังปล่อยคาร์บอนสูงจนเสี่ยงจะเผชิญมาตรการทางภาษีในต่างประเทศ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทระดับโลกหลายแห่ง อาทิ ไมโครซอฟต์ (Microsoft), กูเกิล (Google) และแอปเปิล (Apple) ที่ต่างตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ภายในปี 2030
ยังไม่นับว่าเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ตั้งแต่ต้นน้ำอย่างโรงกลั่น โรงแยกก๊าซ ท่าเทียบเรือเพื่อนำเข้าแอลเอ็นจี ท่อส่งก๊าซ ไปจนถึงปลายน้ำอย่างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลอาจกลายสภาพเป็นสินทรัพย์สูญค่าในอนาคต (stranded assets) กล่าวคือสินทรัพย์ที่ต้องหยุดดำเนินการก่อนที่จะหมดอายุทางเศรษฐกิจเนื่องจากกฎเกณฑ์ใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบจากวิกฤตโลกรวน ผู้เขียนประมาณการว่าหากประเทศไทยดำเนินการตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions) ฉบับล่าสุดอาจทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมูลค่ากว่า 3.6 แสนล้านบาทในไทยกลายเป็นสินทรัพย์สูญค่าในอนาคต
ความเสี่ยงประการสุดท้ายคือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากความเสี่ยงด้านภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน ประชาชนจึงรับรู้และใส่ใจวิกฤตโลกรวนมากกว่าในอดีต และจำนวนไม่น้อยก็พร้อมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันผู้บริโภคไทยจะเน้นเรื่องการลดขยะพลาสติกเป็นหลัก แต่หากความตระหนักรู้เรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้นก็อาจทำให้เหล่าผู้บริโภคเลือกผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำในอนาคต
วิกฤตโลกรวนจึงเป็นความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงไม่ใช่เรื่อง “ทำก็ดี ไม่ทำก็ได้” อีกต่อไป เพราะความเสี่ยงทั้งด้านกายภาพและการเปลี่ยนผ่านคือของจริงและอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ชี้เป็นชี้ตายว่าธุรกิจใดจะอยู่รอดต่อไปในอนาคต
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกผ่านเว็บไซต์ the101.world
เอกสารประกอบการเขียน
Fossil Reckoning: Valuation of Coal and Gas Stranded Assets in Thailand