โจทย์ใหญ่ของไทยในการมุ่งสู่ ‘สังคมคาร์บอนต่ำ’ และเป้า Net Zero

Share

เดือนตุลาคม 2566 ประเทศไทยมีรัฐบาลผสมชุดใหม่อย่างเป็นทางการ นำโดยพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นขั้วใหม่ ขั้วเดิม หรือตระบัดสัตย์ข้ามขั้ว สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ ไม่ว่ารัฐบาลจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด (หรือไม่มีอุดมการณ์เลยก็ตาม) ประเทศไทยก็ไม่อาจละเลยเส้นทางการมุ่งสู่ ‘สังคมคาร์บอนต่ำ’ หรือ low-carbon society ที่จำเป็นต้องเกิดเป็นรูปธรรมภายใน 30-40 ปีข้างหน้า ได้อีกต่อไป ในเมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) หรือภาวะโลกรวน ได้ยกระดับเป็น ‘ภาวะโลกเดือด’ หรือ climate crisis ไปแล้วในคำพูดของเลขาธิการสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา

เพื่อร่วมสะท้อนความเร่งด่วนของปัญหา ต่อไปเวลาเขียนบทความ ผู้เขียนจะใช้คำว่า ‘ภาวะโลกเดือด’ แทนที่ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ หรือ ‘ภาวะโลกรวน’

รัฐบาลชุดใหม่ของไทยดูเผิน ๆ ก็ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ ดังสะท้อนจากถ้อยแถลงของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ณ สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน 2566 ซึ่งเป็นทริปต่างประเทศและเวทีระดับโลกครั้งแรกของนายกฯ คนใหม่

ในถ้อยแถลงยาว 14 นาที นายก ฯ พูดถึงหลายวิธีที่ไทยจะรับมือกับภาวะโลกเดือด อาทิ

  • ดำเนินกลไกการเงินสีเขียว
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2040
  • มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2050
  • ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
  • เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน
  • เดินหน้าเปลี่ยนผ่านระบบคมนาคมสู่พลังงานสะอาด
  • ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ

ผู้เขียนเห็นว่า ทุกข้อที่นายกฯ เศรษฐากล่าวไปนั้นเป็นสิ่งที่ ‘ถึงอย่างไรก็ต้องทำ’ เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ตามกระแสโลก แต่ข้อที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยก็คือ เป้าหมายของไทยที่จะมุ่งสู่ Net Zero ในปี ค.ศ. 2065 นั้น ช้ากว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกถึง 15 ปี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรใด ๆ ทั้งสิ้น

แต่ก็ดังที่สำนวนฝรั่งว่าไว้ว่า ‘ปีศาจอยู่ในรายละเอียด’ และก็มีอีกหลายโจทย์ที่ผู้เขียนเห็นว่าต้องตีให้แตก ถ้าประเทศไทยจะมุ่งหน้าสู่เป้า Net Zero หรือสร้างสังคมคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างแท้จริง

ผู้เขียนคิดว่า มีโจทย์ใหญ่อย่างน้อย 4 ข้อ ที่รัฐบาลนี้ รวมถึงรัฐบาลต่อ ๆ ไป และทุกภาคส่วนในสังคมควรช่วยกันขบคิดและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โจทย์เหล่านั้นมีดังต่อไปนี้

1. ความสำคัญของการปรับเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกและแผน Net Zero ให้สอดรับกับประชาคมโลก

ผู้เขียนเคยเขียนในบทความ “Net Zero, COP26 กับการพิสูจน์ ‘ความจริงใจ’ ของรัฐบาล” เมื่อสองปีที่แล้ว (พฤศจิกายน 2564) ว่า ประเทศส่วนใหญ่ประกาศเป้าก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ว่าจะบรรลุให้ได้ภายในปี 2050 หรือเร็วกว่านั้น “แต่ไทยกลับขอ ‘ต่อเวลา’ อีก 15 ปี คือจะเป็น Net Zero ในปี 2065 (!) โดยไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ฟังขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่า จีนซึ่งเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ ปล่อยคาร์บอนอันดับหนึ่งของโลก ยังขอ ‘ต่อเวลา’ น้อยกว่าไทยถึง 5 ปี โดยประกาศว่าจะบรรลุเป้า Net Zero ภายในปี 2060 …ผู้เขียนเห็นว่า การประกาศเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับกระแสโลก ทั้งที่ไทยไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิตหรือส่งออกถ่านหินอันดับต้นๆ ของโลก อย่าง ออสเตรเลีย หรือ อินโดนีเซีย (ถึงจะต้องอยาก ‘ต่อเวลา’ เพื่อปรับตัวออกจากการพึ่งพาฟอสซิล) จึงมองเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากความไม่จริงใจ ไม่ต้องการ ‘สามัคคี’ กับประชาคมโลกในเรื่องนี้”

นอกจากจะทะเยอทะยานน้อยกว่าประชาคมโลกแล้ว เป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยยังใช้ตัวเลขคาดการณ์ ‘การปล่อยในกรณีปกติ’ (Business as Usual: BAU) ที่ ‘เว่อร์’ เกินจริง เนื่องจากตั้งอยู่บนฐานการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ “เวอร์” เกินจริง (เช่นเดียวกับการคาดการณ์การใช้พลังงาน ซึ่งที่ผ่านมานำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็นไปมาก)

การตั้ง BAU แบบ ‘เวอร์’ เกินจริง จะส่งผลให้เป้าการลดก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าปริมาณที่ควรลดจริง ๆ และบั่นทอนแรงจูงใจของการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต้องเกิดอย่างเร่งด่วน Climate Action Tracker โครงการร่วมระหว่าง Climate Analytics และ New Climate Institute สถาบันวิจัยเกี่ยวกับภาวะโลกเดือดชั้นนำของโลก ประเมินเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ (Unconditional NDC) ที่ไทยยื่นตามข้อตกลงปารีสว่า ‘ไม่เพียงพออย่างร้ายแรง’(critically insufficient – หมายถึงไม่เพียงพอต่อการรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งการประเมินดังกล่าวตั้งอยู่บนเอกสารทางการล่าสุดของไทย (2nd Updated NDC) โดยอธิบายผลการประเมินดังกล่าวว่า

“[เป้าการลดการปล่อยในประเทศของไทย]ยังตั้งอยู่บน BAU ‘เฟ้อ’ (inflated) ที่สูงกว่าการคาดการณ์ปัจจุบันและในแผนนโยบายของไทยมาก เฟ้อแม้แต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 และวิกฤติพลังงานโลก แนวโน้มทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 ตอนนี้เพิ่มน้ำหนักให้กับความเป็นไปได้ที่ว่า BAU ไม่สมเหตุสมผลและควรถูกปรับลดลง ขณะเดียวกันไทยก็ควรปรับเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เข้มแข็งมากขึ้น ถ้าหากว่าทุกประเทศเจริญรอยตามไทย อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะเพิ่มสูงกว่า 4 องศาเซลเซียส ถ้าจะให้ NDC ของไทยสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นไม่เกิน ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แปลว่า NDC ของไทยจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 57% จาก BAU เดิม”

2. แผนที่ชัดเจนในการยกเลิกกิจกรรม “คาร์บอนสูง” จำเป็นไม่แพ้การส่งเสริมกิจกรรม “คาร์บอนต่ำ”

ทุกวันนี้เราได้เห็นความตื่นตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ จากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ต่อภาวะโลกเดือด ยกตัวอย่างเช่น บริษัทต่าง ๆ ทยอยประกาศเป้า Net Zero ที่หลายแห่งทะเยอทะยานกว่าเป้าของภาครัฐ (เช่น Net Zero ภายในปี 2050 ไม่ใช่ 2065 ของรัฐบาล) และกิจกรรม “ลดโลกร้อน” ก็เริ่มมีความหลากหลายและลงลึกกว่ากิจกรรมประเภท “แจกถุงผ้ารักษ์โลก” ที่เราชินตาในอดีต ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทมากขึ้น เมื่อหันมามองฝั่งภาคการเงินและการลงทุน นักลงทุนสถาบันจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เรียกร้องให้บริษัทสนใจความเสี่ยง ESG (ชื่อย่อของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล: Environment, Social, Governance) และประกาศกลยุทธ์การรับมือกับภาวะโลกเดือด (climate strategy) รวมถึงเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน ส่วนในไทยเราก็เริ่มเห็นตราสารหนี้สีเขียว หุ้นกู้ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายความยั่งยืน และคณะทำงาน Thailand Taxonomy มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมสีเขียวตามนิยามเดียวกัน ก็ออกมาตรฐานระยะแรกมาในเดือนมิถุนายน 2566 สำหรับภาคพลังงานและขนส่ง

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าความตื่นตัวและมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาสนับสนุนกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยหรือไม่ปล่อยเลย นั่นคือ กิจกรรม “คาร์บอนต่ำ” อาทิ พลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ – การสนับสนุนกิจกรรมซึ่งเราอาจเรียกรวม ๆ ว่า กิจกรรม “โลกสวย” เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ถ้าหากว่ากิจกรรม “คาร์บอนสูง” อาทิ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) ยังคงสามารถดำเนินต่อไปเหมือนเดิม หรือแม้แต่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง

ทั้งนี้ เนื่องจากกิจกรรมคาร์บอนสูงล้วนแต่ดำเนินมานาน เป็นองค์ประกอบหลักของระบบเศรษฐกิจในอดีต ถ้ามัวแต่ส่งเสริมกิจกรรมคาร์บอนต่ำ แต่ไม่แตะต้องกิจกรรมคาร์บอนสูง ก็ยากที่เราจะบรรลุเป้า Net Zero ได้อย่างแท้จริง

ตัวอย่างมาตรการหนุนการยกเลิกกิจกรรมคาร์บอนสูงที่รัฐทำได้แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยทำ มีอาทิ การประกาศแผนการปลดระวาง (phaseout)  การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน) ที่มีกรอบเวลาชัดเจน รวมทั้งการประกาศยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยรัฐทุกรูปแบบ ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการอุดหนุนในรูปแบบอื่น ๆ เป็นต้น

ยิ่งรัฐให้ความสำคัญกับแผนการยกเลิกการสนับสนุนกิจกรรมคาร์บอนสูงที่ชัดเจน (และให้เวลาปรับตัว) เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้ภาคส่วนต่าง ๆ เร่งสร้างแรงจูงใจที่จะคิดค้นนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์และบริการคาร์บอนต่ำต่าง ๆ ได้มากเพียงนั้น รวมถึงจะช่วยปลดปล่อยทุนมหาศาลออกจากการสนับสนุนกิจกรรมคาร์บอนสูง หันมาเน้นกิจกรรมคาร์บอนต่ำแทนด้วย

3. ยกระดับกลไกควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงตลาดคาร์บอน ที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ

ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตในบทความ “รากฐานนิยมเทคโนโลยี และข้อจำกัดของตลาดคาร์บอน” ว่า ตราบใดที่แผน Net Zero ของไทย “ยังถูกครอบงำด้วยทัศนคติแบบรากฐานนิยมเทคโนโลยี และเน้นการโปรโมตตลาดคาร์บอน กลไกที่มีข้อจำกัดมากมายตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการตรวจสอบ” ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ตลาดคาร์บอนจะกลายเป็นแหล่งฟอกเขียวหรือ greenwash ที่ “ไม่ช่วยให้เราเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างทันการณ์และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ต่อมาในบทความเรื่อง ““อย่าฟอกเขียว net-zero” คำเตือนจากสหประชาชาติ” ผู้เขียนเขียนถึงรายงานอ่านสนุกชื่อ ‘Integrity Matters’ (ความซื่อสัตย์นั้นสำคัญ) ซึ่งออกโดยคณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยคำมั่นสัญญา net zero ขององค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (United Nations’ High-Level Expert Group on the Net Zero Emissions Commitments of Non-state Entities) ระหว่างการประชุม COP27 ในปี 2022

ในรายงานฉบับนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญมีข้อเสนอหลายข้อในการป้องกันการ ‘ฟอกเขียว Net Zero’ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์มากและควรใช้ในไทยด้วย ยกตัวอย่างเช่นข้อเสนอที่ว่า “องค์กรนอกภาครัฐอ้างไม่ได้ว่าเป็น Net Zero ระหว่างที่กำลังสร้าง หรือลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป …เป้าหมาย Net Zero เข้ากันไม่ได้อย่างสิ้นเชิง (incompatible) กับการลงทุนอย่างต่อเนื่องในเชื้อเพลิงฟอสซิล ในทำนองเดียวกัน กิจกรรมที่ทำลายป่าหรือทำลายสิ่งแวดล้อมก็เรียกไม่ได้ว่า Net Zero”

ในเมื่อหลายประเทศทั่วโลกมีบทเรียนมาแล้วมากมายถึงข้อจำกัดและปัญหาของตลาดคาร์บอน ประเทศไทยซึ่งถือเป็น ‘น้องใหม่’ ในแง่นี้ก็ควรเก็บเกี่ยวบทเรียนเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด ประเด็นที่ควรเร่งดำเนินการมีอาทิ การยกระดับระบบการตรวจวัดและรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก รวมถึงมาตรฐานคาร์บอนเครดิตให้ได้มาตรฐานสากล (ส่วนหนึ่งเพื่อจูงใจบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ จะได้สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตในไทยไปนับในโควตาการปล่อยคาร์บอนได้) และการเพิ่มราคาคาร์บอนให้เท่ากับหรือใกล้เคียงราคาในตลาดโลก (75-90 เหรียญสหรัฐต่อตัน) เพื่อสร้างแรงจูงใจอย่างแท้จริงให้บริษัทต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมออกจากกิจกรรมคาร์บอนสูง

ในประเด็นหลังนี้ ผู้เขียนเห็นว่า การเร่งออกภาษีคาร์บอนในอัตราเดียวกันกับราคาคาร์บอนที่ซื้อขายในระบบ EU ETS (การซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการกำหนดเพดานการปล่อยคาร์บอนสูงสุดของแต่ละโรงงาน (Cap) ถ้าโรงงานใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่า Cap ของตนเอง ก็สามารถขายสิทธิ์ให้กับโรงงานที่ปล่อยเกิน Cap ของตัวเองได้ หรือที่เรียกว่า ระบบ Cap-and-Trade ซึ่งไทยยังไม่มี) ของยุโรป จะเป็นวิธีรับมือกับ CBAM ที่สร้างแรงจูงใจอย่างถูกทางและทำให้รัฐไทยมีแหล่งรายได้เพิ่มที่สามารถนำมาช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกเดือด แทนที่จะปล่อยให้สหภาพยุโรปมีรายได้จาก CBAM ฝ่ายเดียว (ตามกลไก CBAM ตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป ผู้ที่นำเข้าสินค้าคาร์บอนสูงสู่สหภาพยุโรปจะต้องจ่าย ‘ค่าธรรมเนียม’ ถ้าหากว่าประเทศต้นทางไม่มีกลไกควบคุมคาร์บอนเท่ายุโรป)

ตราบใดที่รัฐไม่เร่งพัฒนากลไกควบคุมคาร์บอนในไทยให้ได้มาตรฐานสากลและเข้มแข็งกว่านี้ ตลาดคาร์บอนในไทยก็สุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นช่องทาง ‘ฟอกเขียว’ โดยเฉพาะบริษัทคาร์บอนสูงที่วางแผนว่าจะทำเรื่อง Net Zero ด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตราคาถูกจากโครงการที่ไม่น่าเชื่อถือ (เช่น โครงการปลูกป่าที่พื้นที่ป่าไม่เพิ่มจริง หรือเคลมพื้นที่ป่าชุมชนที่ชาวบ้านดูแลกันมานานก่อนมีตลาดคาร์บอน) มา ‘ฟอกเขียว’ กิจกรรมการปล่อยคาร์บอนของตัวเอง

ยังไม่นับว่าไทยจะสูญเสียความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติหลายแห่งที่ประกาศเป้า Net Zero อย่างทะเยอทะยานกว่าไทย และต้องทำตามกฎการควบคุมคาร์บอนในประเทศตนเอง

4. ความสำคัญของ ‘ความยุติธรรม’ ในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะภาคพลังงาน

การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำย่อมมี ‘คนได้’ และ ‘คนเสีย’ มากมายในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ดังนั้นการคำนึงถึง ‘ความยุติธรรม’ จึงเป็นหัวใจที่ขาดไม่ได้ แต่เรื่องนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ผู้เขียนจะทยอยนำประเด็นมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป

ระหว่างนี้ผู้สนใจประเด็น ‘ความยุติธรรม’ ระยะเปลี่ยนผ่าน ผู้เขียนชวนอ่านบทความ “taxonomy กับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม” สำหรับการปูพื้นในประเด็น ‘การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม’ (Just Energy Transition) และ “มหากาพย์ ‘กินรวบ(?)’ โรงไฟฟ้า: ภาคพลังงานหมุนเวียน และคำถามที่ กกพ. ควรตอบ” สำหรับตัวอย่างความ ‘สกปรก’ ในวงการ ‘พลังงานสะอาด’ ของไทย (ซึ่งกรณีหลัง ล่าสุดมีผู้ประกอบการบางรายฟ้อง กกพ. ขึ้นศาลปกครอง และศาลปกครองก็ได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับมติของ กกพ. เป็นการชั่วคราวแล้วเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566)

สฤณี อาชวานันทกุล เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและนักวิจารณ์สังคม หลังจากทํางานในภาคธนาคารและวาณิชธนกิจกว่า 8 ปีเธอได้ร่วมก่อตั้งบริษัท ป่าสาละ จำกัด ในปี 2556 โดยมุ่งเน้นการวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจที่ยั่งยืน สิบปีต่อมาเธอก่อตั้ง Climate Finance Network Thailand (CFNT) เครือข่ายการเงินเพื่อผลักดันการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปี พ.ศ. 2567