รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ หัวหน้าทีมวิจัย เครือข่ายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน (Climate Finance Network Thailand: CFNT) แถลงผลงานวิจัย หัวข้อ “ใช้พลังมวลชน: เพิ่มการเข้าถึงเงินทุนเพื่อติดตั้งโซลาร์ครัวเรือนด้วยโมเดลคราวน์ฟันดิงในไทย” ที่โรงแรมแมริออท กรุงเทพฯ สุขุมวิท เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2567 (ดาวน์โหลดงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่นี่)
ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แต่ปัจจุบันกลับมีสัดส่วนเพียง 1-2% เท่านั้น ซึ่งปัญหาของการเข้าถึงการติดตั้งโซลาร์ในภาคครัวเรือน คือ ราคา การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและความยุ่งยากในการขออนุญาต
ในประเด็นเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน CFNT ได้สำรวจระบบ Crowdfunding ในต่างประเทศที่ใช้กับโครงการโซลาร์โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป คือ Lumo จากฝรั่งเศส, Trine จากสวีเดน, Zonhub จากเนเธอร์แลนด์ และ Ethex จากสหราชอาณาจักร พบว่าจุดร่วมของแพลตฟอร์มเหล่านี้คือ การให้แรงจูงใจทางการเงินจากรัฐบาลที่ต่อเนื่องยาวนาน โดยภาครัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนส่วนเพิ่มเพื่อให้ภาคพลังงานหมุนเวียนเติบโตอย่างก้าวกระโดดและเป็นสัญญาระยะยาว สอง คือความโปร่งใสกับ Due Diligence แพลตฟอร์มเหล่านี้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการอย่างละเอียด เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ สาม ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความหลากหลาย และสี่ ทั้งสี่แพลตฟอร์มระบุเลยว่า การลงทุนนี้จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลง
ในส่วนของการนำเสนอทางเลือกระบบ Crowdfunding เพื่อการติดตั้งโซลาร์ครัวเรือนในประเทศไทย งานวิจัยชิ้นนี้ นำเสนอทางเลือกที่น่าสนใจไว้ 6 ทางเลือกด้วยกันคือ
1. Pay-As-You-Save
ระบบนี้ Crowdfunding จะไปลงทุนในบริษัทติดตั้งโซลาร์ บริษัทที่รับติดตั้งโซลาร์ก็จะไปหาลูกค้า ไปติดตั้งให้กับครัวเรือน โดยที่ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าติดตั้ง แต่บริษัทจะประมาณการว่า การติดโซลาร์ที่บ้านของคุณจะช่วยคุณประหยัดค่าไฟได้เท่าไร สมมติว่าค่าไฟ 4,000 บาท ประมาณการแล้วว่าติดโซลาร์แล้ว ค่าไฟจะเหลือ 3,000 บาท ดังนั้น หลังจากติดตั้งโซลาร์ไปแล้วเราจ่ายค่าไฟ 3,000 บาท อีก 1,000 บาท เอามาผ่อนคืนให้กับตัวบริษัทโซลาร์
ข้อดี : สามารถสร้างรายได้ โดยที่ปลายทางหรือผู้บริโภคที่ติดตั้งโซลาร์ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม นอกจากนี้เมื่อผ่อนชำระหมด แผงโซลาร์นั้นก็จะตกเป็นของเจ้าของบ้านไปเลย
ข้อเสีย : การคืนทุนช้ามากอยู่ที่ประมาณ 7 – 8 ปี กว่าจะคืนทุนได้ นอกจากนี้บริษัทติดตั้งโซลาร์ต้องไปทุกบ้าน ไปดูลักษณะของการใช้ไฟ และทำประมาณการว่าแต่ละบ้านจะประหยัดได้เท่าไร จะจ่ายเงินคืนให้บริษัทได้นานแค่ไหน ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่บริษัทติดตั้งโซลาร์ไม่เชี่ยวชาญ
2. Residential rooftop PV portfolio
Crowdfunding จะไปลงทุนในบริษัทติดตั้งโซลาร์เช่นเดียวกัน ส่วนบริษัทติดตั้งโซลาร์ก็จะไปติดตั้งโซลาร์บนหลังคาให้ฟรี จากนั้นก็จะทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าหรือภาคธุรกิจที่ต้องการไฟฟ้าจากโซลาร์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ บริษัทติดตั้งโซลาร์ก็จะได้เงินคืนจากการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ข้อดี : ครัวเรือนที่ยอมให้ติดตั้งโซลาร์บนหลังคา นอกจากจะได้ติดตั้งฟรีแล้ว ยังได้ค่าเช่าหลังคาด้วย บริษัทติดตั้งโซลาร์ก็จะได้เงินจากการขายไฟฟ้า ส่วนการไฟฟ้าหรือบริษัทที่รับซื้อไฟฟ้าก็จะได้ไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำไปใช้ นอกจากนี้เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี โซลาร์บนหลังคาก็จะตกเป็นของเจ้าของบ้านอีกด้วย
ข้อเสีย : หากเป็นในประเทศไทย ระบบนี้จะไม่คุ้มเนื่องจากรัฐบาลรับซื้อไฟในราคาเพียง 2.2 บาท นอกจากนี้ปัจจุบันตัวโครงข่ายสายไฟก็ยังไม่ได้เปิดให้มีหน่วยงานภายนอกหรือองค์การภายนอกเข้ามาใช้ ดังนั้น ถ้าอยากขายไฟจะต้องเดินสายไฟเอง ต้องทำโครงข่ายไฟฟ้าขึ้นมาเองเพื่อขายให้กับลูกค้า ซึ่งไม่คุ้มทุนในทางธุรกิจ
3. Partnership with real estate developer
ระบบนี้ผู้ที่ระดมทุนจะเป็นบริษัทที่ทำหมู่บ้านจัดสรร ทำงานร่วมกับบริษัทที่ติดตั้งโซลาร์เพื่อติดตั้งโซลาร์ให้กับลูกบ้านโดยที่ไม่ต้องเสียเงินตั้งต้น ซึ่งในปัจจุบันมีหลายบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ทำระบบนี้อยู่แล้ว โดยร่วมกับบริษัทโซลาร์จากประเทศจีนไปติดตั้งให้ โดยใช้ไฟกันเองภายในหมู่บ้าน
ข้อดี : บริษัทที่ทำหมู่บ้านจัดสรรจะรู้จักลูกค้าของบริษัทดีในระดับหนึ่ง ดังนั้น ความเสี่ยงเรื่องผิดนัดชำระหนี้อาจจะไม่ได้สูงมากนัก
ข้อเสีย : โมเดลนี้ แม้จะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ แต่ก็ยังจำกัดอยู่ที่คนที่สามารถซื้อบ้านได้ นอกจากนี้หากลูกบ้านไม่อยู่บ้านตอนกลางวัน การติดโซลาร์บนหลังคาและขายไปพร้อมกับบ้านก็อาจจะเป็นการเพิ่มต้นทุนราคาบ้านให้สูงขึ้นอีก ซึ่งสิ่งที่จะทำให้โมเดลนี้ประสบความสำเร็จก็คือการเปิดแต่ละบ้านสามารถซื้อขายไฟกันเองได้ ซึ่งก็จะทำให้ระบบไฟฟ้าภายในหมู่บ้านพึ่งพากันเอง ผลิตไฟฟ้าใช้กันเองได้ เพิ่มแรงจูงใจให้เกิดการติดตั้งโซลาร์ในครัวเรือนมากขึ้น
4. On-Bill Financing (OBF)
ระบบนี้การไฟฟ้าจะรับเงินที่ระดมทุนมาเพื่อไปติดตั้งโซลาร์ให้กับครัวเรือน โดยจะมีการเรียกเก็บเงินผ่านการผ่อนจ่ายจากบิลค่าไฟฟ้า
ข้อดี : ต่อให้เจ้าของบ้านเปลี่ยนมือก็ยังสามารถผ่อนต่อกันได้ และการชำระผ่านบิลค่าไฟฟ้าก็มีความเสี่ยงผิดนัดชำระต่ำมาก
ข้อเสีย : โมเดลนี้จะเกิดขึ้นได้รัฐบาลต้องให้การสนับสนุน เพราะเป็นการผ่อนจ่ายผ่านบิลค่าไฟฟ้า ปัจจุบันการไฟฟ้าของไทยยังไม่มีแนวทางจะทำธุรกิจนี้ มีเพียงการทำธุรกิจใหม่คือรับติดตั้งโซลาร์บนหลังคาให้กับบ้านเรือนเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้ระบบผ่อนจ่ายจากบิลค่าไฟฟ้า
5. Off-grid Pay-As-You-Go (PAYG)
ระบบนี้ยังคงใช้เงินลงทุนจาก Crowdfunding เช่นเดียวกัน แต่เงินลงทุนจะถูกนำไปใช้กับบริษัทที่รับติดตั้งแบบ Off-Grid ซึ่งก็คือพื้นที่ห่างไกลที่ไม่เชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าหรือว่าโครงข่ายไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึง ตัวบริษัทติดตั้งโซลาร์จะเข้าไปวางระบบในพื้นที่นั้นให้เป็นโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กจ่ายไฟฟ้าให้ตามบ้าน โดยการจ่ายเงินค่าไฟจะคล้ายกับระบบเติมเงินโทรศัพท์มือถือ แต่ละบ้านจะมีมิเตอร์ที่สามารถกดรหัสเติมเงินเข้าไป เมื่อเติมเงินเข้าไปก็จะสามารถใช้ไฟฟ้าจากตัวโครงข่ายพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่กลางหมู่บ้านที่เชื่อมต่อกันทุกบ้านได้
ข้อดี : เหมาะกับพื้นที่ห่างไกล คืนทุนได้ค่อนข้างเร็ว เพราะว่าคนในพื้นที่ที่โครงข่ายไฟฟ้าเข้าไม่ถึงไม่ได้ใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์ก็ต้องใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซล ซึ่งมีราคาสูงหน่วยละประมาณ 20 บาท ไฟฟ้าจากโซลาร์ซึ่งมีราคาถูกกว่าจะทำให้คนหันมาใช้มากกว่า
ข้อเสีย : ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแบบ Off-Grid ในตอนนี้ ในส่วนของกฎระเบียบยังไม่ค่อยแน่ชัด นอกจากนี้ในบางพื้นที่ก็อาจจะได้รับคำสัญญาจากภาครัฐว่าในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าเข้ามา เช่น ระบบสายเคเบิลใต้น้ำ แต่ว่าโครงการเหล่านั้นยังไม่เกิด ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความลังเลใจว่าจะใช้ระบบ Off-grid ดีหรือไม่ หรือจะรอโครงการจากภาครัฐ
6. Rooftop PV for public and government buildings
ระบบนี้คือการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาบนอาคารภาครัฐหรืออาคารสาธารณะ ที่มีการใช้ไฟตอนกลางวัน โดยบริษัทติดตั้งโซลาร์จะไปติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาให้กับอาคารภาครัฐ และสามารถขายไฟคืนมาได้ในราคาเดียวกับราคาที่ซื้อจากโครงข่ายไฟฟ้าจากภาครัฐ คล้ายกับการทำ Private PPA แต่ไม่แสวงหากำไร
ข้อดี : โมเดลนี้ทำให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ อาคารของรัฐได้ซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หน่วยงานภาครัฐยังได้ส่วยแบ่งกำไรคืนกลับไปด้วย ในกรณีที่การทำธุรกิจมีกำไร
ข้อเสีย : ในปัจจุบันยังทำไม่ได้ เนื่องจากกฎระเบียบในการขายไฟคืนยังไม่ปลดล็อก และการที่ภาครัฐจะต้องจ่ายเงินออกนั้นมีความยุ่งยาก จะต้องทำแบบจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีกหากยังไม่มีการแก้ไขกฎระเบียบนี้
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โซลาร์เติบโตอย่างก้าวกระโดด รพีพัฒน์ นำเสนอข้อเสนอต่อภาครัฐ ดังนี้
1. ควรจะเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน
โดยการเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ เพิ่ม Feed-in tariff ทำให้อายุการสัญญารับซื้อไฟสอดคล้องกับอายุของโซลาร์ ปัจจุบันอายุสัญญารับซื้อไฟเพียงแค่ 10 ปี แต่แผงโซลาร์นั้นมีอายุการใช้งาน 20 – 25 ปี การเพิ่มอายุสัญญารับซื้อไฟจะเป็นการการันตีว่า โซลาร์จะสร้างรายได้ในระยาว นอกจากนี้ยังต้องมีนโยบายจูงใจ เช่น Net Metering เพื่อให้คนที่ไม่อยู่บ้านตอนกลางวันสามารถขายไฟคืนระบบได้ในราคาที่สมเหตุสมผล และต้องไม่ใช่ระบบโควตาในแบบปัจจุบันที่รัฐบาลรับซื้อไฟฟ้าจากภาคครัวเรือนเพียง 90 เมกะวัตต์ และในตอนนี้โควตาก็เต็มแล้ว
2. สนับสนุนทางด้านการเงิน
ต้องมีมาตรการลดความเสี่ยง เช่น การรับประกันโดยภาครัฐบางส่วน มีการให้เครดิตการันตี มีการปล่อย Soft Loan แม้ปัจจุบันจะพอมีอยู่บ้าง แต่อาจจะต้องยกระดับหรือทำเงื่อนไขให้คล่องตัวกว่านี้ในอนาคต
3. มีแพลตฟอร์มแบบ One Stop Service
ควรมีแพลตฟอร์มที่ทำให้ประชาชนมาที่เดียวแล้วจบเลย ทั้งการเข้าไปหาความรู้เรื่องการติดตั้งโซลาร์ ข้อดีข้อเสีย ตลอดจนผลตอบแทน และถ้าประชาชนสนใจก็สามารถยื่นแบบฟอร์มเพื่อขอติดตั้งได้เลยโดยที่แพลตฟอร์มจะเป็น One stop service คือมีบริษัทรับติดตั้งโซลาร์ให้เราเลือก ทำสัญญาขายไฟคืนกับภาครัฐ การขอใบอนุญาตทุกอย่าง รวมไปถึงการขอสินเชื่อ ทุกอย่างจบในแพลตฟอร์มเดียว
4. เพิ่มการแข่งขันในตลาดไฟฟ้า
เสนอให้มีระบบ Third Party Access เปิดให้ผู้อื่นเข้ามาใช้โครงข่ายไฟฟ้าได้ด้วย โดยภาครัฐก็จะสามารถเก็บค่าใช้โครงข่ายได้ รวมไปถึงการเปิดให้ผู้ที่สามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ซื้อขายไฟฟ้ากันเองได้เพื่อให้เกิดการแข่งขัน เพราะโครงสร้างในตอนนี้เราต้องซื้อไฟจากการไฟฟ้าเพียงรายเดียว
“โลกในปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์อีกต่อไป เพราะโซลาร์ทำให้ทุกคนสามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ การผลิตไฟฟ้าควรกระจายให้ทุกคนมีส่วนร่วม Crowdfunding เครื่องมือระดมทุนจากมวลชนจะทำให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาติดโซลาร์ได้ ระบบนี้ยังสามารถใช้ระดมทุนได้คล่องตัวมากขึ้นกว่าการไปขอสินเชื่อธนาคาร ถ้าเราปิดช่องว่างตรงนี้ได้ บวกกับมีนโยบายมาสนับสนุน เราก็จะสามารถปลดล็อกศักยภาพของโซลาร์ในประเทศไทยได้” รพีพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย