ทำไมประเทศไทยต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซมีเทน
เมื่อพูดถึงก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ตัวการอันดับแรกที่ปรากฎในความคิดย่อมหนีไม่พ้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่หากเทียบกันในกรอบระยะเวลา 20 ปี ก๊าซมีเทนส่งผลให้อุณภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่าตัว อีกทั้งยังเป็นสาเหตุเกือบครึ่งหนึ่งของอุณหภูมิที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ก๊าซมีเทนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะเชื้อเพลิงอย่างก๊าซธรรมชาติที่เราคุ้นเคยกันดีมีองค์ประกอบของก๊าซมีเทนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่การประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ หลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มหันมาสนใจก๊าซมีเทน เนื่องจากอายุในชั้นบรรยากาศที่น้อยกว่าและสามารถกักเก็บความร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การลดการปล่อยก๊าซมีเทนจึงเป็นการแก้ปัญหาสภาพอากาศที่ง่ายและได้ผลรวดเร็วที่สุด นำไปสู่การให้คำมั่นโดยบรรดาผู้นำนานาประเทศในการลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30 เปอร์เซ็นต์ภายในหนึ่งทศวรรษหรือที่เรียกว่าปฏิญญาสากลเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน (Global Methane Pledge) ต่อเนื่องมายังการประชุม COP28 ที่ถูกจับตาและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะเจ้าภาพผู้จัดการประชุมยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ซึ่งอาจไม่เห็นด้วยมากนักกับแผนลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อรับมือวิกฤติภูมิอากาศ ในทางกลับกัน หลายคนก็คาดหวังว่าเจ้าภาพจะสามารถนำผู้นำในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลมานั่งในวงประชุม หนึ่งในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมคือเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 เหล่ายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันรวม 50 บริษัทก็ได้บรรลุโครงการความร่วมมือที่ชื่อว่า The Oil & Gas Methane Partnership 2.0 (OGMP 2.0) เพื่อขจัดการปล่อยก๊าซมีเทนในกิจกรรมสำรวจและผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลให้เป็นศูนย์ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงการความร่วมมือดังกล่าวไม่ต่างจากการ ‘ฟอกเขียว’ เนื่องจากไม่ได้ช่วยนำไปสู่การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแต่อย่างใด แม้ว่าผลลัพธ์ดังกล่าวอาจไม่ใช่การเปลี่ยนแบบพลิกกระดาน แต่อย่างน้อยผู้เขียนมองว่าเหล่าบริษัทในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งที่ผ่านมาปักธงในฐานะผู้ปฏิเสธวิกฤติภูมิอากาศและพยายามขัดขวางการออกกฎหมายทุกประการที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก OGMP 2.0 […]