V2G สร้างรายได้จากยานยนต์ไฟฟ้าให้รถเป็นโรงไฟฟ้าขนาดจิ๋ว ในฐานะ ‘แบตเตอรี่มีล้อ’
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายประเทศรวมถึงไทย ลังเลที่จะเปลี่ยนผ่านการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียน คือความไม่เสถียรของระบบผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ เนื่องจากเราไม่สามารถควบคุมลมฟ้าอากาศได้ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์จึงผันผวนแบบนาทีต่อนาที ต่างจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติที่สามารถกดปุ่มเปิดปิดตามความต้องการ เหล่านักวิทยาศาสตร์และวิศวกรต่างพยายามคิดค้นนวัตกรรมเพื่อจัดการความผันผวนของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ หนึ่งในนั้นคือแบตเตอรี่สำหรับเก็บประจุไฟฟ้า ซึ่งเปรียบเสมือนข้อต่อที่ช่วยจัดการความไม่สมดุลระหว่างกำลังการผลิตไฟฟ้าและความต้องการใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม เหล่าประเทศที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอนก็ยังเผชิญกับความท้าทายสำคัญ คือต้นทุนค่าแบตเตอรี่ที่ปัจจุบันยังนับว่าแพงแสนแพง หากจะติดตั้งแบตเตอรี่ที่จ่ายไฟเพียงพอสำหรับบ้านหนึ่งหลัง ก็อาจต้องใช้งบประมาณราวครึ่งล้านบาท แต่ความนิยมของยานยนต์ไฟฟ้าอาจเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เพราะคนจำนวนมากยอมควักกระเป๋าเงินร่วมล้านเพื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้า หรือ ‘แบตเตอรี่ที่มีล้อ’ เท่ากับว่าถ้าประเทศไหนมีโครงข่ายไฟฟ้าหรือกริดที่ฉลาดเพียงพอ ก็จะสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากรถยนต์ไฟฟ้าที่เสียบชาร์จอยู่ได้ ไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่ทำงาน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่พุ่งสูงในบางช่วงเวลา แนวคิดดังกล่าวเรียกว่าการจ่ายไฟฟ้าจากยานยนต์สู่กริด (vehicle-to-grid) หรือ V2G ซึ่งมีโครงการทดลองหลายแห่งทั้งในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยที่ Renault-Nissan-Mitsubishi พันธมิตรสามค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่เป็นเจ้าตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีรับและจ่ายไฟฟ้าในคันเดียวกัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกิดความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในแวดวง V2G คือการที่ บริษัท Octopus Energy รับซื้อไฟฟ้าเชิงพาณิชย์จากยานยนต์ไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในสหราชอาณาจักร โดยใช้แพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Kraken ระบบอัตโนมัติที่จะจัดการ “ชาร์จไฟรถยนต์ในช่วงที่ค่าไฟถูก และจ่ายไฟเข้าสู่กริดในช่วงที่มีความต้องการใช้สูง” โดยเพียงแค่เสียบชาร์จไว้อย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง เจ้าของรถยนต์ชาวอังกฤษก็สามารถทำเงินได้ 850 ปอนด์ หรือราว 40,000 บาทต่อปี ในยุคที่วิกฤติโลกรวนเป็นเรื่องเร่งด่วน […]