ไม่ว่าจะเผชิญกับอากาศร้อนดังนรก หรือโดนถล่มโดยฝนห่าใหญ่ จนถึงปัจจุบันนี้ยังมีคนเชื่ออยู่ว่า “โลกรวน” หรือ Climate Change ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากมนุษย์ แต่เป็นเรื่องที่เป็นไปตามวัฏจักรของธรรมชาติ แม้วิทยาศาตร์จะมีคำตอบให้กับเรื่องนี้มานานนับทศวรรษก็ตาม ฝนถล่มฟ้าเมื่อหลายวันที่ผ่านมาคงจะทำให้ชีวิตหลายคนลำบากไม่น้อย ถึงแม้ในอีกมุมนึงฝนห่าใหญ่จะมาคลายความร้อนที่ต่อเนื่องเนิ่นนานตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมไปได้บ้าง อากาศที่ร้อนขึ้นอย่างผิดสังเกตกลายเป็นกระแสเสียงบ่นระงมว่า ‘ร้อนกว่าสมัยเด็กๆ’ ความรู้สึกของเราสอดคล้องกับสถิติที่ Copernicus Climate Change Service เปิดเผยว่าอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกในเดือนเมษาที่ผ่านมาร้อนขึ้นราว 1.61 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ปฏิเสธไม่ได้ว่าความร้อนทะลุปรอทเมื่อนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ 99 คนจาก 100 คน เห็นต้องตรงกันว่าแนวโน้มอุณภูมิบนพื้นผิวโลกเฉลี่ยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมามีสาเหตุสำคัญจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ การรับมือ ‘สภาวะโลกร้อน’ เป็นประเด็นที่ถูกอภิปรายอย่างกว้างขวางบนเวทีโลกมายาวนานกว่าสามทศวรรษโดยมีจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการคืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งช่วงแรกเริ่มประสบอุปสรรคและคำถามนานัปการ แต่เมื่อภาวะโลกรวนเริ่มเผยตัวรุนแรงยิ่งขึ้น นานาประเทศจึงเริ่มตระหนักว่าภาวะโลกร้อนคือ ‘ของจริง’ ไม่ใช่แค่คำทำนายหายนะในนวนิยายวิทยาศาสตร์ ความพยายามรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังจึงเริ่มต้นอีกครั้งโดยมีหมุดหมายสำคัญคือข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมาซึ่งมุ่งมั่นจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ในบทความนี้ ผู้เขียนอยากชวนผู้อ่านไปคลายข้อสงสัยว่าด้วยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของภาวะโลกร้อน รวมถึงข้อพิสูจน์ว่าภาวะโลกร้อนเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ต้นธารของวิทยาศาสตร์โลกร้อน แม้หลายคนจะมองว่าศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสลับซับซ้อน แต่ทราบไหมครับว่าครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศจะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ต้องสืบย้อนไปถึงปี 1896 […]
โดย
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์วันที่