ทำไมถึงต้องใช้ ‘กลไกตลาด’ เพื่อเพิ่มการแข่งขันในระบบไฟฟ้าไทย?
เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเข้าฟังบรรยายโดยคุณอากิโกะ โยชิดะ (Akiko Yoshida) นักรณรงค์เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก Friends of the Earth Japan เธอเล่าให้ฟังถึงโครงการ Power Shift ที่พยายามสนับสนุนและจูงใจให้ครัวเรือนญี่ปุ่นหันมา ‘เลือก’ ซื้อพลังงานจากเอกชนที่เน้นให้บริการพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ถึงตรงนี้ ผมเองก็อดไม่ได้ที่ต้องอธิบายให้เพื่อนชาวไทยฟังว่าระบบไฟฟ้า ‘มัดมือชก’ โดยที่ประชาชนไม่มีตัวเลือกแบบที่ใช้อยู่ในประเทศไทย แท้จริงแล้วเป็นแค่ระบบไฟฟ้า ‘รูปแบบหนึ่ง’ ซึ่งแพร่หลายโดยเฉพาะในแถบเอเชียนั้น ในขณะที่ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มขยับโดยการเปิดเสรีและใช้กลไกตลาดเพิ่มขึ้น อย่างประเทศญี่ปุ่นเองก็ค่อย ๆ เปิดเสรีตั้งแต่ตลาดรายใหญ่ และเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมาก็ขยับขยายจนเปิดเสรีตลาดรายย่อยทั้งหมด ดังนั้นประชาชนคนญี่ปุ่นจึงสามารถ ‘เลือก’ ได้ว่าจะทำสัญญาซื้อไฟฟ้าเข้าบ้านจากผู้บริการเอกชนรายใด โดยที่แต่ละรายก็จะมีรายละเอียดสัญญา อัตราค่าบริการ และจุดขายอย่างระดับความ ‘เขียว’ แตกต่างกันออกไป หันกลับมาที่ประเทศไทย แรกเริ่มเดิมทีระบบไฟฟ้าของเราอยู่ในมือรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย แต่เมื่อปี 2003 รัฐบาลไทยหันมาใช้ระบบใหม่ที่ชื่อว่า Enhanced Single Buyer Model โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า โดยที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ดูแลสัญญาเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าและสายส่งแรงสูง ส่วนโครงข่ายการกระจายไฟฟ้าไปยังครัวเรือนรวมถึงการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับรายย่อยนั้น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) […]