กลไกค่าไฟที่ทำให้คนไทยกลายเป็น ‘นักแบก’
Photo credit: สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) หน้าร้อนแบบนี้ ไม่ว่าใครก็คงเริ่มหลอนกับใบเรียกเก็บค่าไฟฟ้าที่กำลังจะมาถึง เพราะย้อนกลับไปเมื่อต้นปีที่แล้ว ผมและผู้อ่านหลายคนคงเจอกับปัญหา ‘ค่าไฟทะลุเพดาน’ กับตาตัวเอง โดยมีสาเหตุสำคัญเกิดจากสององค์ประกอบหลักคืออากาศที่ร้อนจัดและค่าไฟผันแปรที่พุ่งกระฉูด นับตั้งแต่วันนั้น ประเด็นเรื่องค่าไฟก็เป็นปัญหาที่ค้างคาใจผมอยู่ตลอดเวลา จนมาวันนี้จึงพอจะสรุปได้ว่าปัญหาทั้งหมดทั้งมวลอาจอยู่ที่ ‘กลไกราคา’ ปัจจุบัน ที่ส่งผ่านต้นทุนทั้งหมดมายังผู้บริโภคโดยตรง (Cost Pass-Through) ซึ่งสามารถตีความว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทยทั้งระบบนั้นไม่มีความเสี่ยงและไม่มีทางขาดทุน เพราะไม่ว่าต้นทุนในการผลิตหรือราคาเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้นเพียงใด ต้นทุนทุกบาททุกสตางค์ก็จะส่งผ่านมายังคนไทยทุกคนแบบหารเฉลี่ย คงไม่ผิดนักหากจะยกย่องคนไทยว่าเป็น ‘นักแบก’ และต้องก้มหน้าก้มตาแบกต่อไปตราบใดที่กลไกราคากำหนดค่าไฟฟ้ายังคงเป็นเช่นเดิม ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปสำรวจโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตและจัดจำหน่ายไฟฟ้าของไทย รวมถึงแนวทางในการเพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าที่น่าจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ โครงสร้างพลังงานไทย เมื่อพูดเรื่องระบบไฟฟ้า หนึ่งในชื่อแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือ กฟผ. องค์กรรัฐวิสาหกิจที่ก่อตั้งโดยมีบทบาทหลักเพื่อ ‘ผลิตไฟฟ้า’ อย่างไรก็ตาม บทบาทของ กฟผ.เปลี่ยนแปลงไปหลังจากไทยปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าสู่ระบบที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว (Enhanced Single Buyer) ผมขอชวนผู้อ่านมาลองทายกันเล่นๆ ว่า ล่าสุด กฟผ.มีกำลังการผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนทั้งสิ้นกี่เปอร์เซ็นต์ของระบบไฟฟ้าไทย 90%? – ตัวเลขนี้สูงเกินไปมากเลยครับ 75%? – ก็ยังสูงเกินไปอยู่ดี 50%? – ครึ่งๆ แบบนี้ก็ยังไม่ถูกครับ […]