ไขศักยภาพพลังงานหมุนเวียนด้วยนวัตกรรมทางการเงิน

Share

ปรากฎการณ์เอลนีโญในปีนี้ทำให้ทั่วโลกรู้ว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ คือของจริง หลายประเทศทุบสถิติความร้อนไปตามๆ กัน แม้แต่ประเทศไทยเองก็เผชิญความร้อนอย่างถ้วนหน้าโดยในช่วงเดือนพฤษภาคมแตะทะลุ 40 องศาทั่วประเทศนำไปสู่ระดับการใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

น่าแปลกใจที่หลักฐานเชิงประจักษ์ตรงหน้ากลับไม่ช่วยทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนรวดเร็วขึ้น ทั้งที่เทคโนโลยีทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานลมจะราคาถูกลงอย่างมาก แต่อัตราการเติบโตของภาคพลังงานดังกล่าวในประเทศไทยในช่วงห้าปีหลังเรียกได้ว่าค่อนข้างคงที่ หากเทียบกับเวียดนามที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไทยเคยเป็นผู้นำของภูมิภาค แต่ปัจจุบันเวียดนามกลับสามารถเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งจนมากกว่าไทยถึง 5 เท่าตัว

น่าแปลกใจที่รัฐบาลไทยดูจะให้ความสำคัญกับการซื้อพลังงานน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระดับหายนะ หรือการสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีข้อกังขาหลายประการถึงความยั่งยืนในแง่การแก่งแย่งทรัพยากรน้ำและที่ดินในการใช้ปลูกพืชอาหาร แต่กลับมองข้ามพลังงานศักยภาพสูงอย่างแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านเรือน

ในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา บ้านผู้เขียนเองก็เผชิญกับค่าไฟที่พุ่งสูงจนต้องมองหาทางออกใหม่นั่นคือการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา แต่เมื่อเห็นราคาก็ต้องปาดเหงื่อ เพราะหากจะติดตั้งให้สมน้ำสมเนื้อกับการใช้ไฟฟ้าก็ต้องใช้ทุนรอนหลักแสนโดยใช้ระยะเวลาคืนทุนร่วมสิบปี นี่คือหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่อาจทำให้โครงการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านของผมและอีกหลายคนไม่สามารถกลายเป็นความจริง

แต่ปัญหาดังกล่าวก็ใช่ว่าจะไร้ทางออก เพราะสามารถคลี่คลายได้ด้วยนวัตกรรมทางการเงินซึ่งประสบความสำเร็จในหลายประเทศ

อุปสรรคของพลังงานหมุนเวียนสำหรับรายย่อย

อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมจึงไม่เลือกใช้ช่องทางจัดหาเงินทั่วไป เช่น การกู้ธนาคารพาณิชย์ สำหรับเป็นเงินทุนในการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์

สาเหตุก็เนื่องจากช่องทางเหล่านั้นไม่ตอบโจทย์สำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลซึ่งโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนแบบพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

หากมองในมุมของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ต้นทุนในการทำธุรกรรมปล่อยสินเชื่อโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กนั้นไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายแถมยังใช้เวลาคืนทุนที่ยาวนาน โครงการเช่นนี้จึงจัดเป็นโครงการประเภทที่มีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนต่ำอย่างยิ่ง เหล่านายธนาคารจึงมองหาทางเลือกอื่นที่ผลตอบแทนดีกว่า

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังต้องใช้ข้อมูลการชำระหนี้ในอดีตจำนวนมากของโครงการลักษณะเดียวกันเพื่อประเมินความเสี่ยง แต่ด้วยความที่โครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กนับเป็นเรื่องใหม่มากๆ ธนาคารจึงต้องประเมินความเสี่ยงให้สูงไว้ก่อนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง กลายเป็นว่าสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติก็อาจมาพร้อมกับดอกเบี้ยที่สูงลิ่วจนไม่ดึงดูดใจผู้ที่มาขอสินเชื่อเช่นกัน

อุปสรรคของโครงการพลังงานหมุนเวียนสำหรับรายย่อยไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องการขอสินเชื่อเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องปัญหาระหว่างผู้เช่ากับเจ้าของสินทรัพย์ (Landlord-Tenant Problems) อีกด้วย

สมมติว่ามีบ้านเช่าหลังหนึ่งต้องการติดแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา คำถามที่ตามมาคือใครต้องเป็นผู้ที่จ่ายเงินลงทุนค่าติดตั้งดังกล่าว หากมองในมุมของเจ้าของบ้านเช่า การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ย่อมเป็นการปรับปรุงอาคารที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เจ้าของบ้านจะไม่ได้เป็นผู้รับประโยชน์ในระยะสั้น เนื่องจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้เช่า

ถึงแม้ว่าผู้เช่าจะได้ประโยชน์ทางตรง แต่ด้วยระยะเวลาคืนทุนที่ยาวนานของการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ก็ทำให้เขาไม่มั่นใจว่าจะถูกยกเลิกสัญญาเช่าหรือมีเหตุให้ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นก่อนหมดสัญญาเช่าหรือเปล่า สุดท้ายโครงการติดแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาจึงไม่เกิดขึ้นเพราะไม่มีใครอยากเป็นเจ้าภาพในการจ่ายเงินลงทุน

แก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมทางการเงิน

ปัญหาที่กล่าวถึงด้านบนสามารถบรรเทาได้ผ่านนวัตกรรมทางการเงินดังนี้

ตัวอย่างแรกคือการใช้เทคนิค Crowd Funding เพื่อระดมเงินทุนสำหรับโครงการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือบริษัท Mosaic จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระดมเงินลงทุนที่รับเงินฝากจากนักลงทุนที่สนใจแล้วปล่อยสินเชื่อให้กับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อนี้มีระยะเวลาตั้งแต่ 5 ถึง 10 ปี โดยการลงทุนขั้นต่ำเพียง 25 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับโครงการที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์ไปจนถึง 1 เมกะวัตต์

เมื่อแผงพลังงานแสงอาทิตย์เริ่มผลิตไฟฟ้า นักลงทุนก็จะได้ผลตอบแทน 4.5 ถึง 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี นับว่าสูงมากๆ เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝาก โดยที่ Mosaic คิดค่าธรรมเนียม 2 ถึง 3 เปอร์เซ็นต์จากยอดสินเชื่อ และ 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเป็นค่าดำเนินการ โดยล่าสุด Mosaic ปล่อยสินเชื่อไปแล้วรวมทั้งสิ้น 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ตัวอย่างที่สองคือโครงการ $ave ซึ่งใช้การระดมเงินทุนผ่านการจ่ายชำระค่าสาธารณูปโภค (On-bill Financing) โดยสหกรณ์ Roanoke Electric เป็นผู้ให้บริการไฟฟ้าแก่ลูกค้ารายย่อยในรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา เมื่อผู้บริโภคต้องการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในบ้าน

ตัวอย่างเช่น นายจอห์นยื่นใบสมัครเข้าโครงการ $ave หลังจากนั้นพนักงานจะเข้าไปตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าที่บ้านของนายจอห์นผ่านซอฟต์แวร์ OptiMiser Energy เพื่อพิจารณาว่ามีโอกาสปรับปรุงบ้านซึ่งคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ หากพบโอกาสการลงทุน เช่น ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา บริษัทก็จะคำนวณให้เห็นว่าจอห์นจะสามารถประหยัดค่าไฟได้กี่ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งเงินก้อนนั้นจะต้องนำมาผ่อนชำระค่าแผงพลังงานแสงอาทิตย์เดือนละเท่าไหร่ รวมถึงต้องใช้เวลากี่ปีถึงจะหมดภาระ

หากนายจอห์นตกลง บริษัท Roanoke Electric ก็จะเพิ่มค่าผ่อนชำระเข้าในใบเรียกเก็บค่าสาธารณูปโภคในแต่ละเดือน ค่าผ่อนชำระนี้จะน้อยกว่าเงินค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ ในกรณีที่อสังหาริมทรัพย์มีการเปลี่ยนเจ้าของ ภาระการผ่อนชำระจะถูกส่งผ่านไปยังผู้อยู่อาศัยคนถัดไปโดยอัตโนมัติจนกว่าบริษัทจะได้เงินลงทุนกลับคืนมาเต็มจำนวน

โครงการข้างต้นแก้ปัญหาหลายเปลาะ นอกจากบริษัทจะเป็นคนออกเงินให้ก่อนโดยเจ้าของบ้านหรือผู้เช่าไม่ต้องเสียเงินสักดอลลาร์แล้ว ยังเป็นการผ่อนชำระผ่านใบเรียกเก็บค่าสาธารณูปโภคซึ่งมีอัตราการผิดนัดเพียง 0.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นับว่าต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอัตราการผิดนัดสูงถึงราว 10 เปอร์เซ็นต์

เมื่อผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานและความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำของบริษัทพลังงานแล้ว โครงการดังกล่าวจึงสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่บริษัทที่มีกำไร แต่ลูกค้ายังได้ประหยัดค่าไฟฟ้าและช่วยลดการใช้พลังงานซึ่งปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย

ตัวอย่างทั้งสองนี้เป็นเพียงกรณีศึกษาเพียงหยิบมือของนวัตกรรมทางการเงินที่ใช้จัดหาเงินลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนหรือยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แต่น่าเสียดายที่โครงการแบบนี้ยากจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากโครงสร้างพลังงานของไทยถูกควบคุมโดยรัฐและยังไม่เปิดโอกาสต่อนวัตกรรมการระดมทุน การจัดหาเงินทุนเพื่อพลังงานหมุนเวียนสำหรับรายย่อยยากที่จะเดินหน้าไปข้างหน้าได้ต่อไป

เอกสารประกอบการเขียน

รพีพัฒน์ เป็นนักเขียนและนักแปลอิสระด้านการเงิน เขาจบปริญญาโทด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมวิจัยประจำ CFNT รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์