- หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายประเทศรวมถึงไทย ลังเลที่จะเปลี่ยนผ่านการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียน คือความไม่เสถียรของระบบผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ผันผวนแบบนาทีต่อนาที ต่างจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติที่สามารถกดปุ่มเปิดปิดตามความต้องการ
- ความนิยมของยานยนต์ไฟฟ้าอาจเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เพราะคนจำนวนมากยอมควักกระเป๋าซื้อ ‘แบตเตอรี่ที่มีล้อ’ เท่ากับว่าถ้าประเทศไหนมีโครงข่ายไฟฟ้าหรือกริดที่ฉลาดเพียงพอ ก็จะสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากรถยนต์ไฟฟ้าที่เสียบชาร์จอยู่ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่พุ่งสูงในบางช่วงเวลา แนวคิดเช่นนี้เรียกว่าการจ่ายไฟฟ้าจากยานยนต์สู่กริด (vehicle-to-grid)
- ปัจจัยที่จำเป็นต่อการเกิด V2G คือระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริง (Net Metering) เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ อย่างไรก็ตาม จวบจนปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวก็ยังไม่คืบหน้าไปไหนพร้อมกับข้ออ้างหยุมหยิมอย่างเช่น ปัญหาการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือระบบกริดไฟฟ้าไทยที่ยังไม่ ‘ยืดหยุ่น’ เพียงพอ
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายประเทศรวมถึงไทย ลังเลที่จะเปลี่ยนผ่านการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียน คือความไม่เสถียรของระบบผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ เนื่องจากเราไม่สามารถควบคุมลมฟ้าอากาศได้ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์จึงผันผวนแบบนาทีต่อนาที ต่างจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติที่สามารถกดปุ่มเปิดปิดตามความต้องการ
เหล่านักวิทยาศาสตร์และวิศวกรต่างพยายามคิดค้นนวัตกรรมเพื่อจัดการความผันผวนของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ หนึ่งในนั้นคือแบตเตอรี่สำหรับเก็บประจุไฟฟ้า ซึ่งเปรียบเสมือนข้อต่อที่ช่วยจัดการความไม่สมดุลระหว่างกำลังการผลิตไฟฟ้าและความต้องการใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม เหล่าประเทศที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอนก็ยังเผชิญกับความท้าทายสำคัญ คือต้นทุนค่าแบตเตอรี่ที่ปัจจุบันยังนับว่าแพงแสนแพง หากจะติดตั้งแบตเตอรี่ที่จ่ายไฟเพียงพอสำหรับบ้านหนึ่งหลัง ก็อาจต้องใช้งบประมาณราวครึ่งล้านบาท
แต่ความนิยมของยานยนต์ไฟฟ้าอาจเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เพราะคนจำนวนมากยอมควักกระเป๋าเงินร่วมล้านเพื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้า หรือ ‘แบตเตอรี่ที่มีล้อ’ เท่ากับว่าถ้าประเทศไหนมีโครงข่ายไฟฟ้าหรือกริดที่ฉลาดเพียงพอ ก็จะสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากรถยนต์ไฟฟ้าที่เสียบชาร์จอยู่ได้ ไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่ทำงาน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่พุ่งสูงในบางช่วงเวลา
แนวคิดดังกล่าวเรียกว่าการจ่ายไฟฟ้าจากยานยนต์สู่กริด (vehicle-to-grid) หรือ V2G ซึ่งมีโครงการทดลองหลายแห่งทั้งในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยที่ Renault-Nissan-Mitsubishi พันธมิตรสามค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่เป็นเจ้าตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีรับและจ่ายไฟฟ้าในคันเดียวกัน
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกิดความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในแวดวง V2G คือการที่ บริษัท Octopus Energy รับซื้อไฟฟ้าเชิงพาณิชย์จากยานยนต์ไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในสหราชอาณาจักร โดยใช้แพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Kraken ระบบอัตโนมัติที่จะจัดการ “ชาร์จไฟรถยนต์ในช่วงที่ค่าไฟถูก และจ่ายไฟเข้าสู่กริดในช่วงที่มีความต้องการใช้สูง” โดยเพียงแค่เสียบชาร์จไว้อย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง เจ้าของรถยนต์ชาวอังกฤษก็สามารถทำเงินได้ 850 ปอนด์ หรือราว 40,000 บาทต่อปี
ในยุคที่วิกฤติโลกรวนเป็นเรื่องเร่งด่วน พลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งจำเป็น และรถไฟฟ้าได้รับความนิยม V2G นับเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาสังคมแล้ว เจ้าของรถยนต์ก็สามารถสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้า เรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์นั่นเอง
V2G ทางออกของความท้าทายในยุคคาร์บอนต่ำ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่ขับเคลื่อนทุกอย่างด้วยไฟฟ้าที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นไม่ง่าย หลายประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ต้องเผชิญกับกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ผันผวน บางคราวผลิตมามากเกินไปจนต้องจำหน่ายในราคาติดลบ บางครั้งก็ผลิตไม่เพียงพอจนต้องหาทางนำเข้าราคาแพง อย่างไรก็ตาม พลังงานหมุนเวียนก็ยังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ทุบประวัติศาสตร์การเติบโตในปีที่ผ่านมาโดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตมากกว่า 507 กิกะวัตต์ หรือคิดเป็นราวสิบเท่าตัวของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศไทย
อีกหนึ่งกระแสที่แรงไม่แพ้พลังงานหมุนเวียน คือยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากจะเห็นวิ่งเกลื่อนถนนในไทยแล้ว ที่สหรัฐอเมริกายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นสองเท่าตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่ฝั่งยุโรปก็เติบโตเป็นเลขสองหลัก ไม่ต้องพูดถึงประเทศจีนที่แทบจะเรียกว่าเมืองหลวงของรถยนต์ไฟฟ้า หากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ต่อไป คาดว่าในอีก 30 ปี รถยนต์สันดาปจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน
ทั้งสองแนวโน้มนี้เป็นข่าวดีต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่นับเป็นข่าวร้ายของฝั่งผู้บริการจัดการระบบไฟฟ้า เพราะถ้าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ การสร้างสมดุลระหว่างการผลิตไฟฟ้าและความต้องการใช้ไฟฟ้าก็แทบเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่ว่าเราจะมีระบบแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ในขณะที่จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นก็อาจสร้างแรงกดดันต่อระบบจ่ายไฟในช่วงค่ำ หากไม่มีการจัดการ
ตัวอย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียที่คาดว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะคิดเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2050 ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 32 เปอร์เซ็นต์ในช่วงค่ำ จึงต้องอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลมาผลิตไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว
หนึ่งในทางออกเพื่อรับมือความท้าทายข้างต้นคือระบบจ่ายไฟฟ้าจากยานยนต์สู่กริด (vehicle-to-grid) หรือ V2G โดยที่รถยนต์ไฟฟ้าทำหน้าที่เป็นแบตเตอรี่แบบกระจายศูนย์ เปรียบเสมือน ‘โรงไฟฟ้าขนาดจิ๋ว’ ที่พร้อมจะจ่ายไฟตามความต้องการของระบบ ตัวอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้าจะชาร์จไฟในช่วงเวลาที่ค่าไฟต่ำ เช่น ตอนกลางคืน ซึ่งสามารถผลิตพลังงานลมได้มาก หรือตอนเที่ยงวันที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้สูง แล้วจ่ายไฟฟ้าคืนกริดในช่วงเวลาอื่น ซึ่งกำลังการผลิตต่ำกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า
ยานยนต์ไฟฟ้านับว่าตอบโจทย์ในฐานะแบตเตอรี่ เพราะ 90 เปอร์เซ็นต์ของอายุการใช้งานของรถยนต์จะถูกจอดไว้เฉยๆ ในส่วนของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าก็มีการศึกษาพบว่าจะเสื่อมตาม ‘อายุ’ มากกว่าที่จะเสื่อมตาม ‘ความถี่ในการใช้งาน’ การพัฒนาระบบ V2G นอกจากจะช่วยบรรเทาต้นทุนความไม่เสถียรของพลังงานหมุนเวียนแล้ว ยังช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีกอีกด้วย
โจทย์ใหญ่ของระบบ V2G คือการจัดการอุปสงค์และอุปทานการใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกัน ด้วยการที่มีผู้เล่นในระบบมีจำนวนมากขึ้นและกระจายศูนย์ การจัดการกริดจึงต้องเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ระบบดิจิทัลที่ตอบสนองเร็ว โครงการ V2G จึงเริ่มผุดขึ้นทั่วโลก จากการทดสอบเพื่อพิสูจน์ว่าแนวคิดดังกล่าวใช้งานได้จริง สู่โครงการเชิงพาณิชย์ขนาดเล็กก่อนจะมาถึงการใช้เชิงพาณิชย์อย่างจริงจังในสหราชอาณาจักร
Octopus Power Pack เทคโนโลยี V2G เชิงพาณิชย์รายแรกในสหราชอาณาจักType something here
การทำงานของระบบ V2G โดย Octopus Energy นั้นตรงไปตรงมา เพียงติดตั้ง Octopus Power Pack กับแท่นชาร์จ เพียงเท่านี้ระบบก็จะควบคุมว่าช่วงเวลาไหนที่กระแสไฟฟ้าจะชาร์จเข้าสู่รถยนต์ และช่วงเวลาไหนที่รถยนต์จะทำหน้าที่จ่ายไฟเข้าสู่ระบบ สร้างรายได้ให้กับเจ้าของรถถึงขนาดที่บริษัทโฆษณาว่าสามารถวิ่งได้แบบไม่ต้องเสียค่าไฟ
แม้ว่าปัจจุบันระบบดังกล่าวจะมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะรุ่นรถยนต์และแท่นชาร์จที่สามารถใช้งานได้ แต่ก็นับเป็นการประกาศว่า V2G ไม่ใช่แค่ความฝัน แต่สามารถทำงานได้จริงในเชิงพาณิชย์
โอกาสของ V2G ในประเทศไทย
ปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยยอดการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 7 เท่าตัวในปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปี 2565 ยังไม่นับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 จึงคาดการณ์ได้ว่าอนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยค่อนข้างสดใส แต่ในทางกลับกัน แผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของไทยยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก ส่วนการพัฒนากริดอัจฉริยะก็ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยจึงนับว่าน่ากังวลไม่น้อย
อีกหนึ่งปัจจัยที่จำเป็นต่อการเกิด V2G คือระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริง (net metering) เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ อย่างไรก็ตาม จวบจนปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวก็ยังไม่คืบหน้าไปไหน พร้อมกับข้ออ้างหยุมหยิมอย่างเช่น ปัญหาการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือระบบกริดไฟฟ้าไทยที่ยังไม่ ‘ยืดหยุ่น’ เพียงพอ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ตระหนักถึงศักยภาพของ V2G เพราะเคยจับมือกับ Nissan และ Mitsubishi ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นแนวหน้าที่รองรับเทคโนโลยีการชาร์จไฟฟ้าแบบสองทิศทาง โดยเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ระยะที่ 2 อย่างไรก็ตาม นอกจากข่าวประชาสัมพันธ์แล้ว ผู้เขียนก็ยังไม่เห็นแนวโน้มในการต่อยอดแต่อย่างใด
ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีนั้นพร้อมใช้งาน ณ ระดับราคาที่แข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ คำถามที่ยังไม่มีคำตอบคือเมื่อไรประเทศไทยถึงจะ ‘พร้อม’ เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน เพราะยิ่งล่าช้า ต้นทุนในการเปลี่ยนผ่านก็จะยิ่งสูง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในด้านสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และต้นทุนด้านเศรษฐกิจจากโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างมาเพื่อรองรับเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกผ่านเว็บไซต์ Thairath Online ในชื่อว่า: V2G สร้างรายได้จากยานยนต์ไฟฟ้าให้รถเป็นโรงไฟฟ้าขนาดจิ๋ว ในฐานะ ‘แบตเตอรี่มีล้อ’
อ่านเพิ่มเติม:
Can vehicle-to-grid facilitate the transition to low carbon energy systems?
Octopus Energy launches UK’s first vehicle-to-grid tariff for EVs
How can vehicle-to-grid technologies boost energy transition?