พลังงานแสงอาทิตย์แพงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลจริงหรือ?

Share

ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่เคยยึดติดกับความคิดที่ว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นทางเลือกราคาแพงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันคือวันที่รัสเซียตัดสินใจรุกรานยูเครนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้ตลาดก๊าซทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยที่ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซเป็นสัดส่วนสูงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าไทยจะสามารถผลิตก๊าซเองได้บางส่วน แต่ราคาจำหน่ายเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าก็ผันผวนไปตามตลาดโลก

นี่คือสาเหตุที่ราคาไฟฟ้าไทยพุ่งทะลุไปเกิน 5 บาทต่อหน่วยซึ่งนับว่าสูงเป็นประวัติการณ์!

ในฐานะนักการเงิน ผมพยายามหาทางออกในระยะยาว แต่น่าเสียดายที่ตลาดไฟฟ้าของไทยเป็นระบบผูกขาดโดยรัฐวิสาหกิจ ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ จึงถูก ‘มัดมือชก’ ทำให้มีทางเลือกเพียงหนึ่งเดียวที่เหลือคือต้องหาทางผลิตไฟฟ้าด้วยตนเอง ผมจึงหันมามองศึกษาต้นทุนการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันเพื่อประกอบการตัดสินใจ

แม้ว่าภาพจำของพลังงานแสงอาทิตย์คือการที่รัฐรับซื้อในราคามากกว่า 6 บาทเมื่อราวทศวรรษก่อน แต่เชื่อไหมครับว่าต้นทุนแผงพลังงานแสงอาทิตย์ถูกลงมาก องค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency) ประมาณการว่าต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงถึง 83 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 2010–2022 และถ้าหันไปดูราคารับซื้อของรัฐไทยเอง ก็พบว่าหล่นลงมาอยู่ที่ 2.20 บาท เท่ากับว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต่อหน่วยย่อมต่ำกว่าตัวเลขดังกล่าวอย่างแน่นอน

แผนภาพ 1: ต้นทุนไฟฟ้าปรับระดับ (LCOE) เฉลี่ยทั่วโลกระหว่างปี 2010-2022 จำแนกตามประเภทของเชื้อเพลิง
ภาพจาก Sun and wind for net zero – Benchmarking renewables growth in South, Southeast and East Asia

แต่ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงสักบาทแบบนี้จะต้องคำนวณต้นทุนอย่างไร?

ด้วยความฉงนสงสัย ผมก็ไปค้นจนได้คำตอบคือคำนวณจาก ‘ต้นทุนไฟฟ้าปรับระดับ’ (Levelized Cost of Energy) หรือที่เรียกกันอย่างแพร่หลายว่า LCOE ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเพื่อเปรียบเทียบว่าต้นทุนไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานใดราคาต่ำกว่ากัน

LCOE คำนวณอย่างไร

การผลิตไฟฟ้าของพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น แม้จะได้ ‘ไฟฟ้า’ เป็นผลผลิตเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างสำคัญคือพลังงานหมุนเวียนไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิง แต่โรงไฟฟ้าฟอสซิลต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงซึ่งมีราคาผันผวนตลอดเวลา เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ว่าโรงไฟฟ้าใดต้นทุนต่ำกว่า เหล่านักเศรษฐศาสตร์จึงต้องใช้สมมติฐานระยะยาวแล้วคำนวณว่าต้นทุนรวมตลอดอายุการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นค่าก่อสร้าง บำรุงรักษา และค่าเชื้อเพลิง เมื่อได้ตัวเลขผลรวมแล้วก็นำไปหารปริมาณหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ตลอดอายุการใช้งาน

เพื่อให้เห็นภาพ ผมขอยกตัวอย่างตามนี้ครับ

สมมติว่าแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 10 กิโลวัตต์ มีอายุการใช้งาน 25 ปี มีค่าติดตั้งและบำรุงรักษาตลอดอายุการใช้งานคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ราว 550,000 บาท แผงพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวผลิตไฟฟ้าได้เต็มที่ 10 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงหรือเท่ากับค่าไฟฟ้า 10 หน่วย อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของแผงพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นอยู่กับแสงแดด ซึ่งในประเทศไทยแผงพลังงานแสงอาทิตย์จะผลิตได้เต็มที่ราว 14-17 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นตัวเลขกลมๆ ว่าผลิตไฟฟ้าได้ 300,000 หน่วยตลอดอายุการใช้งาน

ดังนั้น LCOE ของแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในกรณีด้านบนจะเท่ากับ 550,000 หารด้วย 300,000 เท่ากับ 1.83 บาทต่อหน่วยนั่นเอง ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกับตัวเลขที่ผมคำนวณได้ก่อนตัดสินใจติดแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่บ้านตัวเองเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพราะนั่งคิดนอนคิดยังไงก็คุ้ม เนื่องจากบ้านของผมมีคนอยู่ตอนกลางวันทำให้สามารถประหยัดค่าไฟไปได้หน่วยละ 5 บาทด้วยทางเลือกที่ต้นทุนไม่ถึงครึ่ง ส่วนไฟที่เหลือก็สามารถขายคืนให้กับการไฟฟ้าได้ในหน่วย 2.20 บาท ซึ่งก็ยังคุ้มเช่นกันแต่อาจจะไม่เท่ากับการใช้เองในตอนกลางวัน

ตัวเลข 1.80 บาทเศษๆ นี้ต่ำกว่าราคาที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) รับซื้อจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำลาว (2.06 บาท) ลิกไนต์หงสา (2.22 บาท) ก๊าซธรรมชาติประเทศผู้ผลิตเอกชนรายเล็ก (4.06 บาท) แต่ในแผนภาพเดียวกัน หลายคนอาจแปลกใจที่ราคารับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ของ กฟผ. นั้นแพงแสนแพงคือมากกว่า 7 บาท สาเหตุก็เพราะราคาดังกล่าวเป็นราคาตามสัญญาที่ผูกพันระยะยาวสมัยที่ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ยังแสนแพง แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ลดต่ำลงมาก ประเทศไทยแทบไม่มีการขยับขยายการรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

แผนภาพ 2: ต้นทุนการผลิตหน้าโรงไฟฟ้าปี 2556 เปรียบเทียบแหล่งพลังงานประเภทต่างๆ
ภาพจาก https://www.egat.co.th/home/egat-price/

หากวัดด้วย LCOE จะพบว่าต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ต่ำลงมาก แต่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ยังยึดติดภาพจำว่าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นราคาแพงและไม่มั่นคง ทั้งที่ในทศวรรษที่ผ่านมาเทคโนโลยีได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดและมีแนวโน้มที่จะราคาต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

แต่โอกาสก็มาพร้อมกับความเสี่ยง เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินลงทุนเพื่อติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์แล้วลดการใช้ไฟจากระบบไฟฟ้าของรัฐ ด้วยกลไก ‘ค่าพร้อมจ่าย’ ที่ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตไฟฟ้าหรือไม่ รัฐก็ต้องจ่ายเงินให้ตามสัญญา ผนวกกับ ‘ค่าไฟหารเท่า’ ที่ทุกคนต้องร่วมแบกรับต้นทุนดังกล่าว สถานการณ์เช่นนี้เท่ากับว่าคนที่มีทุนทรัพย์เพียงพอเท่านั้นจึงจะสามารถใช้ไฟฟ้าในราคาประหยัด ส่วนคนที่ไม่มีทางเลือกก็ต้องจำยอมซื้อไฟฟ้าราคาแพงจากรัฐที่ยังพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลราคาแพง

คนจำนวนไม่น้อยกล่าวโทษว่าเหล่าคนที่ติดตั้งโซลาร์ (อย่างผม) คือสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพง ทั้งที่ปัญหาที่แท้จริงคือภาครัฐที่ไม่ยอมเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนต้นทุนต่ำ รวมถึงทำสัญญาที่ขาดความยืดหยุ่นและเอื้อประโยชน์ต่อภาคเอกชนเกินไปต่างหาก เพราะถ้าระบบผูกขาดไฟฟ้าในปัจจุบันสามารถจัดหาไฟฟ้าราคาต่ำมาให้ผู้บริโภคได้ คงไม่มีใครอยากควักเงินเป็นแสนมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง

พลังงานแสงอาทิตย์กับความท้าทายต่อกริดไฟฟ้า

ประเทศไทยเหมาะอย่างยิ่งที่จะผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะการที่เราอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้เราได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ล้นเหลือตลอดทั้งปี โดยรายงานของบริษัทที่ปรึกษา Accenture ระบุว่า LCOE พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยนั้นต่ำที่สุดเป็นอันดับสองในอาเซียนโดยเป็นรองเพียงประเทศเมียนมาเท่านั้น รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่า พลังงานแสงอาทิตย์และระบบแบตเตอรีในประเทศไทยมีต้นทุนที่เทียบเท่ากับการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา และต้นทุนจะเท่ากับถ่านหินภายในปี 2042 อีกด้วย

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว เราควรเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานแสงอาทิตย์อย่างเต็มกำลังเลยหรือเปล่า?

แผนภาพ 3: แผนภาพเปรียบเทียบ LCOE จากการผลิตพลังงานของแต่ละแหล่งเชื้อเพลิง
ภาพจาก APAC SYSTEM VALUE ANALYSIS THAILAND 2022

คำตอบคือใช่ แต่เป็นการเดินหน้าอย่างมีเงื่อนไข เพราะพลังงานแสงอาทิตย์จะสามารถผลิตได้เฉพาะในช่วงเวลากลางวัน แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของเรานั้นมีทั้งกลางวันและกลางคืน ดังนั้นแม้ว่าต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์จะต่ำ แต่ก็มีจุดอ่อนคือต้องพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าหรือกริดให้มีความยืดหยุ่นและสอดรับกับลักษณะของการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป

ปัจจุบัน เรามีทางเลือกจำนวนหนึ่งในการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ทั้งในรูปแบตเตอรี่ที่เราคุ้นเคยกันดีหรือโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (pumped storage hydropower) ที่เปรียบเสมือนแบตเตอรี่ในรูปของเขื่อนซึ่งตอนนี้ไทยเป็นผู้นำในอาเซียน และยังไม่นับนวัตกรรมที่เริ่มแพร่หลายอย่างเช่น Vehicle-to-Grid ที่แปลงรถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นแบตเตอรี่มีล้อเพื่อจ่ายไฟเข้าระบบในช่วงที่ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนลดต่ำลง

แน่นอนครับว่าการยกระดับสายส่งไฟฟ้าให้ทันสมัยและสอดรับกับความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนย่อมใช้เงินลงทุนมหาศาล แต่อย่าลืมนะครับว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ไม่ได้ผุดมาจากใต้โรงไฟฟ้า แต่ต้องสร้างห่วงโซ่อุปทานทั้งการสำรวจและผลิต การขนส่งผ่านท่อก๊าซ โรงแยกก๊าซ เทอร์มินัลเพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว และอีกสารพัดที่ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่างกัน น่าแปลกใจที่รัฐวิสาหกิจไทยกลับเร่งรัดเดินหน้าขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะที่การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้ากลับล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

น่าเสียดายที่ร่างแผนพัฒนาพลังไฟฟ้าฉบับ พ.ศ. 2567 หรือ PDP2024 ที่เพิ่งเปิดรับฟังความคิดเห็นไปไม่นานกลับเดินหน้าพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์แบบกล้าๆ กลัวๆ โดยยังหวังพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากต่างแดน และพลังงานน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งที่เรามีศักยภาพในการผลิตพลังงานภายในประเทศสูงลิ่ว

แผนภาพ 4: สัดส่วนไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในแต่ละประเทศ
ภาพจาก Sun and wind for net zero – Benchmarking renewables growth in South, Southeast and East Asia

สิ่งที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือไทยเคยเป็นผู้นำในด้านพลังงานหมุนเวียนของภูมิภาค โดยในปี 2562 ประเทศไทยมีสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากลมและแสงอาทิตย์อันดับต้นๆ ในเอเชียโดยเป็นรองเพียงประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่หันกลับมาอีกทีในปี 2565 ขณะที่เราเดินถอยหลังโดยหันไปพึ่งพาก๊าซ เวียดนามกลับแซงหน้าโดยมีการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลมมากกว่าเราถึง 3 เท่าตัว

ผู้เขียนไม่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้านัก แต่หากสวมหมวกนักการเงิน เราก็คาดหวังว่าเงินลงทุนในตอนนี้จะสามารถสร้างประโยชน์ได้ในอนาคตระยะยาว ปัจจุบันเชื้อเพลิงฟอสซิลเผชิญความท้าทายทั้งแรงกดดันจากกฎระเบียบระหว่างประเทศ เงื่อนไขการลงทุนจากบริษัทต่างชาติที่ต้องการไฟฟ้าปลอดคาร์บอน รวมถึงกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยที่คาดว่าจะมีการตั้งราคาคาร์บอน ยังไม่นับว่าปีหน้าประเทศไทยเราต้องอัปเดตการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions) ตามข้อตกลงปารีสซึ่งจำเป็นต้องเข้มข้นยิ่งขึ้น ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้โครงสร้างพื้นฐานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสูญค่าในอนาคต

การปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เศรษฐกิจโลกก็หมุนไปข้างหน้าด้วยการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ ลองย้อนนึกถึงยุคการมาถึงของเครื่องจักรไอน้ำหรือคอมพิวเตอร์สิครับ แม้เทคโนโลยีเหล่านั้นจะทำให้คนจำนวนมากต้องเปลี่ยนงาน แต่ผลกระทบดังกล่าวก็เกิดขึ้นในระยะสั้น หากมองในระยะยาวเทคโนโลยีเหล่านั้นจะเพิ่มผลิตภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม

วันนี้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าก้าวเข้าสู่ยุคผลัดใบ ระบบพลังงานไทยพร้อมหรือยังที่จะเปลี่ยนผ่านก่อนที่จะตกขบวน  

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกผ่านเว็บไซต์ the 101. world


เอกสารประกอบการเขียน

Sun and wind for net zero – benchmarking renewables growth in South, Southeast and East Asia

Electricity Grids and Secure Energy Transitions

EXPLORING RENEWABLE ENERGY OPPORTUNITIES IN SELECT SOUTHEAST ASIAN COUNTRIES

What is the cost of utility-scale solar PV generation in select Southeast Asian countries?

รพีพัฒน์ เป็นนักเขียนและนักแปลอิสระด้านการเงิน เขาจบปริญญาโทด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมวิจัยประจำ CFNT รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์