‘สมาร์ทกริด’ เทคโนโลยีจำเป็น ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน
ระบบสายส่งไฟฟ้า (electrical grid) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ระบบกริด เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการขององค์การรัฐวิสาหกิจของไทย และไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก แต่ระบบสายส่งไฟฟ้ามีความสำคัญต่อระบบไฟฟ้าไทย เพราะช่วยให้เราทุกคนมีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง ในยุควิกฤติโลกรวนที่นานาประเทศทั่วโลกต่างต้องลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ระบบสายส่งไฟฟ้านับว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานอันดับแรกๆ ที่ต้องเร่งพัฒนา เพราะถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน สาเหตุก็เนื่องจากรูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เดิมทีระบบสายส่งไฟฟ้าสร้างมาเพื่อส่งพลังงานไฟฟ้าแรงสูงจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่กี่แห่งไปยังครัวเรือนต่างๆ แต่พลังงานหมุนเวียน เช่น แผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา จะคล้ายกับโรงไฟฟ้าขนาดจิ๋วที่กระจายตัวอยู่หลากหลายแหล่ง ยังไม่นับลักษณะการผลิตไฟฟ้าของพลังงานหมุนเวียนที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากคาดการณ์ไม่ดี จัดการไม่ได้ ระบบไฟฟ้าทั้งหมดก็อาจระส่ำระสาย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 เพิ่มเป้าหมายสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าจาก 20 เปอร์เซ็นต์เป็น 37 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2580 โดยมีพลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวชูโรงโดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 22 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตไฟฟ้า โดยล่าสุดรัฐบาลเตรียมประกาศแผนพลังงานชาติพร้อมกับระบุว่า พร้อมเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบให้ไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ความฝันดังกล่าวคงยากจะเป็นความจริง หากรัฐบาลไม่ทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนา ‘สมาร์ทกริด’ ให้สามารถรองรับรูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพิ่มความยืดหยุ่นระบบไฟฟ้าด้วยสมาร์ทกริด สมาร์ทกริดไม่มีนิยามตายตัวที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institute of Standards and […]