การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติ อุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย
ประเทศไทยให้คำมั่นต่อนานาประเทศว่าจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมตามข้อตกลงปารีส กระนั้น การเติบโตของความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีในประเทศไทยกลับฉายภาพตรงกันข้าม และอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศในอนาคต ข้อมูลจาก Kpler ระบุว่าในปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีการนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตัวเลขการนำเข้า ณ เดือนตุลาคมอยู่ที่ 22.9 ล้านลูกบาศก์เมตร นับว่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการนำเข้าในปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 19.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ตัวเลขดังกล่าวทำให้ประเทศไทยขยับขึ้นจากอันดับ 11 สู่อันดับ 8 ของผู้นำเข้าแอลเอ็นจีทั่วโลก โดยอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงปี พ.ศ. 2565 สวนทางกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียที่ต่างลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเนื่องจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนช่วงปี พ.ศ. 2565 ตัวแปรหลักที่ทำให้ตัวเลขการนำเข้าแอลเอ็นจีของไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดหรือราว 1.27 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2562 คือการพึ่งพาแก๊สธรรมชาติปริมาณมหาศาลเพื่อการผลิตไฟฟ้า ข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) ระบุว่าการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในไทยเมื่อปี พ.ศ. 2564 พึ่งพาก๊าซธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 62.2 […]