ประเทศไทยให้คำมั่นต่อนานาประเทศว่าจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมตามข้อตกลงปารีส กระนั้น การเติบโตของความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีในประเทศไทยกลับฉายภาพตรงกันข้าม และอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศในอนาคต
ข้อมูลจาก Kpler ระบุว่าในปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีการนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตัวเลขการนำเข้า ณ เดือนตุลาคมอยู่ที่ 22.9 ล้านลูกบาศก์เมตร นับว่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการนำเข้าในปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 19.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ตัวเลขดังกล่าวทำให้ประเทศไทยขยับขึ้นจากอันดับ 11 สู่อันดับ 8 ของผู้นำเข้าแอลเอ็นจีทั่วโลก โดยอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงปี พ.ศ. 2565 สวนทางกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียที่ต่างลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเนื่องจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนช่วงปี พ.ศ. 2565
ตัวแปรหลักที่ทำให้ตัวเลขการนำเข้าแอลเอ็นจีของไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดหรือราว 1.27 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2562 คือการพึ่งพาแก๊สธรรมชาติปริมาณมหาศาลเพื่อการผลิตไฟฟ้า ข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) ระบุว่าการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในไทยเมื่อปี พ.ศ. 2564 พึ่งพาก๊าซธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 62.2 ข้อมูลจาก IEA ยังชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการใช้แอลเอ็นจีเพื่อการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 78 ระหว่างปี พ.ศ. 2543 ถึง 2564 ขณะที่การนำเข้าก๊าซธรรมชาติโดยรวมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 685 ในช่วงเวลาเดียวกัน ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในไทย คือการลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจากประมาณร้อยละ 20 ในปี พ.ศ. 2565 เป็นราวร้อยละ 16 ในปี พ.ศ. 2566
รายงานของ Ember สถาบันวิจัยด้านพลังงานอิสระระบุว่าการลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะช่วยให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงประมาณ 2.5 ล้านตันในช่วง 8 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2566 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2565 แต่ความสำเร็จดังกล่าวถูกหักกลบลบด้วยการเพิ่มขึ้นของการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ โดยคิดเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่า 5 ล้านตัน นั่นหมายความว่าถึงแม้ประเทศไทยจะหยุดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แต่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการผลิตไฟฟ้าก็ยังคงสูงเช่นเดิม
ประเทศผู้ส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลพยายามผลักดันให้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานทางเลือกในระยะเปลี่ยนผ่านก่อนมุ่งสู่การใช้พลังงานที่สะอาดยิ่งขึ้น พร้อมกับเน้นย้ำว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการผลิตไฟฟ้าโดยก๊าซธรรมชาติต่ำกว่าถ่านหินอย่างมาก ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่งในเอเชีย เช่น ประเทศไทย จึงมองว่าก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนแล้ว ทางเลือกดังกล่าวยังรักษาราคาค่าไฟฟ้าและพลังงานให้อยู่ในระดับที่ประชาชนจ่ายไหว
การค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งในอ่าวไทยหลังวิกฤตการณ์น้ำมันโลกในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเริ่มใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นแหล่งพลังงานหลัก การค้นพบดังกล่าวนำไปสู่การวางระบบโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เชื่อมโยงแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้งบนและนอกชายฝั่งกับโรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ และภาคอุตสาหกรรม
ประเทศไทยเริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมาร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 และเริ่มนำเข้าแก๊สธรรมชาติเหลวจากประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 เพื่อทดแทนแหล่งก๊าซธรรมชาติที่เริ่มร่อยหรอ แม้ว่ากำลังผลิตก๊าซธรรมชาติภายในประเทศจะลดลง แต่ไทยยังคงมุ่งหวังที่จะยกระดับตัวเองเป็นศูนย์กลางการค้าแอลเอ็นจีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามที่ระบุไว้ในแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561-2580 เช่นในปี พ.ศ. 2566 ปตท. รัฐวิสาหกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกาศทุ่มเงินลงทุนมูลค่า 2,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อพัฒนา ‘พลังงานสะอาด’ แต่ในรายงานกลับปรากฏว่าการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการสร้างโครงข่ายท่อส่งก๊าซเพิ่มเติม
เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้นอันเนื่องมาจากความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน และความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมาร์ การพึ่งพาก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาลของไทยกลายเป็นความเปราะบางในระบบพลังงานและทำให้ประเทศไทยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างต่อเนื่องไม่ว่าราคาจะผันผวนเพียงใดก็ตาม ในทางกลับกัน ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนและระบบแบตเตอรี่เก็บพลังงานต่างก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การลงทุนของไทยในก๊าซธรรมชาติกลายเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดและไม่ยั่งยืนทั้งในทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
รายงานฉบับล่าสุดโดย Ember Global Electricity Review ระบุว่าความมุ่งมั่นของเวียดนามในการพัฒนาการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์และลมอย่างรวดเร็วสามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้สำเร็จ และในขณะเดียวกันก็ช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าด้วยเช่นกัน โดยในปี พ.ศ. 2564 เพียงปีเดียว เวียดนามมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 337 ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ องค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) ยังคาดว่าโครงการพลังงานหมุนเวียนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ลงทุนในปี พ.ศ. 2563 จะช่วยประหยัดค่าพลังงานสูงถึง 156,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตลอดอายุการใช้งาน ตัวเลขดังกล่าวตอกย้ำถึงความสำคัญของการเร่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน เนื่องจากเป็นวิธีที่ต้นทุนต่ำและสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้รวดเร็วกว่าเมื่อเทียบกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งต้องปิดตัวลงในอนาคต
กระทรวงพลังงานไทยเตรียมที่จะเผยแพร่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับปรับปรุงใหม่ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนและส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน แผนฉบับนี้จะมีกำหนดใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 ถึง 2580 โดยจะแทนที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับก่อนซึ่งเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2561 เดิมทีนั้นแผนฉบับใหม่มีกำหนดว่าจะบังคับใช้ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2566 แต่กลับล่าช้าออกไปหลายเดือนเนื่องจากการเลือกตั้ง
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับปรับปรุงนี้คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศภายในปี พ.ศ. 2579 นับเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับสัดส่วนร้อยละ 11 ในแผนปี พ.ศ. 2554 นอกจากนี้ แผนฉบับใหม่ยังพิจารณาการนำพลังงานนิวเคลียร์เพื่อใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าในไทย อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่มีความสลับซับซ้อน ประเด็นนี้จึงยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
แม้ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับสูง ทว่ากลับไม่มีท่าทีที่จะรับมือปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาว (long-term climate risk index) ที่จัดทำโดย Germanwatch องค์กรสิ่งแวดล้อมอิสระ ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 หรือกลุ่มประเทศ “ความเสี่ยงสูงอย่างยิ่ง” บ่งชี้ถึงความเปราะบางของไทยต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอีกสามทศวรรษข้างหน้า เช่น ภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ อย่างยากจะหลีกเลี่ยง นอกจากนี้ ภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงานประมาณร้อยละ 30 ของแรงงานทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 6 ของจีดีพียังเสี่ยงที่จะเผชิญภัยธรรมชาติรุนแรง อาทิ อุทกภัยและภัยแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในชนบทที่ยากจน
การวิเคราะห์โดย Climate Action Tracker องค์กรวิจัยอิสระที่ติดตามนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของรัฐบาล ระบุว่าประเทศไทยให้คำมั่นในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ในการประชุม COP 26 เมื่อปี พ.ศ. 2564 รัฐบาลไทยประกาศเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608 ซึ่งนับว่าล้าหลังเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ยังไม่นับว่าไทยไม่ได้ลงนามในข้อตกลงยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี พ.ศ. 2573
แม้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก และปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่การเพิ่มความมุ่งมั่นของนโยบายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับวันจะยิ่งมีความเร่งด่วนมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในกลุ่มอาเซียนจึงนับเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำของภูมิภาคที่มีศักยภาพในการสร้างต้นแบบในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการดำเนินนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น การพึ่งพาแก๊สธรรมชาติของประเทศไทยจึงสวนทางกับความมุ่งมั่นดังกล่าว และนับเป็นท่าทีที่น่ากังวลต่อผู้สนับสนุนพลังงานสะอาดในภูมิภาค
เอกสารประกอบการเขียน
- https://ember-climate.org/countries-and-regions/countries/thailand/
- https://seads.adb.org/solutions/can-southeast-asian-countries-sustainably-continue-their-lng-development#:~:text=Natural%20gas%20is%20a%20relatively,power%20and%20energy%20prices%20affordable.
- https://www.reuters.com/markets/commodities/thailands-lng-boom-risks-slowing-se-asia-energy-transition-2023-10-25/
- https://gasoutlook.com/analysis/thai-gas-output-ramps-up-renewables-waver/
- https://tdri.or.th/en/2023/11/electricity-liberalization-the-way-of-leading-the-country-towards-clean-affordable-and-equitable-electricity/
- https://asia.nikkei.com/Business/Energy/Thailand-PTT-s-2.8bn-investment-paves-way-to-decarbonization