เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม หลายคนคงผ่านตาข่าวฮือฮาว่าด้วยการมาเยือนประเทศไทยของ สัตยา นาเดลลา ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก Microsoft พร้อมกับคำมั่นสัญญาว่าจะมาลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย และพัฒนาศักยภาพชาวไทยให้พร้อมใช้งานเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์
ข่าวดังกล่าวนับเป็นแสงแห่งความหวังของใครหลายคน ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญหน้ากับทางตัน เพราะหวังพึ่งพาสารพัดอุตสาหกรรมยุคเก่า โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่เป็น ‘เดอะแบก’ ของเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน ทั้งรถยนต์สันดาปที่กำลังเผชิญภัยคุกคามจากยานยนต์ไฟฟ้า และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive) ที่กำลังถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีโซลิดสเตตไดรฟ์ (Solid State Drive) และการเก็บข้อมูลในคลาวด์ ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในเทคโนโลยีดาวรุ่ง ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือเซมิคอนดักเตอร์ถูกผันไปยังประเทศข้างเคียง
น่าเสียดายที่จวบจนปัจจุบันเรายังไม่เห็นตัวเลขเม็ดเงินลงทุนที่ชัดเจนจาก Microsoft แตกต่างจากแผนการลงทุนของในประเทศอื่นๆ แถบเอเชียที่ไมโครซอฟต์ประกาศตัวเลขชัดเจน เช่น แผนการลงทุนในอินโดนีเซีย มูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในประเทศมาเลเซีย มูลค่า 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำไปสู่คำถามว่า เพราะเหตุใด Microsoft จึงไม่ประกาศตัวเลขของประเทศไทย
สำนักข่าว THE STANDARD WEALTH สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญสองท่านที่เสนอ 2 ความไม่พร้อมของประเทศไทย ประกอบด้วยความไม่พร้อมด้านแรกคือนโยบาย ความไม่พร้อมด้านที่สองคือแรงงาน ส่วนในบทความนี้ ผมขอเสนอความไม่พร้อมด้านที่สาม คือการผลิตไฟฟ้าของไทยที่อาจยังไม่ ‘เขียว’ พอจะดึงดูดยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟต์
เมื่อเหล่ายักษ์ใหญ่ต้องการใช้พลังงาน ‘เขียว’
ในวันที่ประเทศไทยตื่นเต้นกับเม็ดเงินลงทุนก้อนใหม่จาก Microsoft ทั่วโลกก็ตื่นตากับ ‘ซุปเปอร์ดีล’ ของ Microsoft ที่ทำสัญญาสนับสนุนการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนแห่งใหม่ทั่วโลก โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 10.5 กิกะวัตต์ หรือคิดเป็นราว 30 เท่าตัวของกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย เป้าหมายของซุปเปอร์ดีลดังกล่าวมี 2 ประการ หนึ่งคือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัท และสองคือการเตรียมพร้อมสำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงลิ่วจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
Microsoft ประกาศความมุ่งมั่นในการทำให้บริษัทปล่อยก๊าซเรือนกระจกติดลบภายในปี 2030 หมายความว่า การดำเนินงานของบริษัทโดยรวมจะทำงานเหมือนต้นไม้ที่คอยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ โดยจะรับผิดชอบคาร์บอนทั้งหมดในอดีตที่บริษัทปล่อยไว้ในชั้นบรรยากาศทั้งหมดภายในปี 2050
ความมุ่งมั่นด้านภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องแปลกในหมู่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ Apple และ Google เองก็ตั้งเป้าว่าจะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ภายในปี 2030 ด้าน Amazon ประกาศว่า จะบรรลุเป้าหมายเดียวกันในปี 2040 ดังนั้น พลังงานคาร์บอนต่ำปริมาณมากเพียงพอ และระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นเงื่อนไขประกอบที่ขาดไม่ได้ในการเลือกประเทศปลายทางที่จะลงทุน
ปัจจุบันหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ภายในปี 2050 ส่วนอินโดนีเซียกำหนดเป้าหมายที่ปี 2060 ขณะที่ไทยรั้งท้ายในอาเซียน โดยตั้งเป้าไว้ที่ 2065 สะท้อนภาพว่าความมุ่งมั่นด้านภูมิอากาศของประเทศไทยอาจไม่สอดคล้องนักกับความต้องการของเหล่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่
หนึ่งในความท้าทายต่อเป้าหมายด้านภูมิอากาศของเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่คือเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์ และการประมวลผลผ่านระบบคลาวด์ที่ใช้ไฟฟ้ามหาศาล องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) คาดการณ์ว่าศูนย์ข้อมูลทั่วไป รวมถึงที่ใช้สำหรับปัญญาประดิษฐ์ และคริปโตเคอร์เรนซี จะต้องการพลังงานสูงถึง 800 เทระวัตต์ชั่วโมงในปี 2026 (ประมาณ 4 เท่าตัวของการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยเมื่อปี 2022) คิดเป็นการเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี
ศูนย์ข้อมูลต้องการไฟฟ้าที่เสถียร หมายความว่า ต่อให้ลมไม่พัดและพระอาทิตย์ไม่ส่องแสง ก็ต้องจัดหาไฟฟ้าปลอดคาร์บอนมาป้อนเข้าสู่ระบบให้ได้ เท่ากับว่าประเทศปลายทางที่ต้องการเงินลงทุนจะต้องจัดเตรียมระบบสายส่งอัจฉริยะ ที่สามารถรับมือกับอุปทานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ผันผวน ระบบแบตเตอรี่เพื่อสำรองไฟฟ้า รวมถึงการบริหารจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอย่างเหมาะสม
จับตาแผนพลังงานชาติ ชี้ชะตาอนาคตเศรษฐกิจไทย
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา วัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ระบุว่า แผนพลังงานชาติฉบับใหม่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2037 นับว่าก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับแผนเดิมที่ราว 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่แผนฉบับดังกล่าวก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้เห็นว่าตัวเลขจริงที่ปรากฏในแผนคือเท่าไรกันแน่
หากไทยประกาศเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 50 เปอร์เซ็นต์จริง ก็อาจพอใจชื้นได้ว่าผู้นำของเรามีวิสัยทัศน์และพร้อมเปิดรับการเปลี่ยนแปลง แต่หากยังคงแผนเดิมและพึ่งพาก๊าซเป็นหลักเฉกเช่นปัจจุบัน ก็คงต้องเตรียมใจไว้ล่วงหน้าว่าประเทศไทยคงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง พร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ล้าสมัยและสิ้นประโยชน์
ประเทศไทยเคยภาคภูมิใจกับการครองอันดับหนึ่งในฐานะประเทศที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จนกระทั่งในปี 2018 ถูกเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามแซงหน้าไปขาดลอย โดยตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 2023 เวียดนามมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สูงกว่าประเทศไทยเกือบ 6 เท่าตัว ส่วนหนึ่งเพราะกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของไทยแทบไม่ขยับไปไหน
ส่วนในแง่การรักษาความเสถียรของระบบไฟฟ้า เมื่อเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลักก็มีทางออกมากมาย หนึ่งในนั้นคือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (pumped hydro storage) ซึ่งประเทศไทยเป็นเบอร์หนึ่งของภูมิภาค โดยมีกำลังผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ ระบบดังกล่าวคือการเปลี่ยนอ่างเก็บน้ำให้เปรียบเสมือนแบตเตอรี่ขนาดยักษ์ ที่จะสูบน้ำเข้าสู่อ่างเก็บน้ำในช่วงที่ไฟฟ้าล้นระบบ และปล่อยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าในช่วงที่พลังงานไม่เพียงพอ
แต่บัลลังก์แชมป์ก็อาจอยู่อีกไม่นาน หากแผนพัฒนาพลังงานชาติฉบับใหม่ไม่เร่งพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเพิ่มเติม เพราะเวียดนามเองก็มีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับที่มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 3 กิกะวัตต์เร็วๆ นี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานสะอาดไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล แต่ผู้เขียนมองว่า ทางเลือกนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะเทรนด์โลกชัดเจนว่าเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ต้องการพลังงานสะอาด และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตอาจ ‘ไม่ฟรี’ อีกต่อไป เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism) ยังไม่นับว่าต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่ตอนนี้ต่ำจนสามารถแข่งขันได้กับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลเรื่องความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า แผนพลังงานชาติที่กำลังจะคลอดคือการ ‘ชี้ชะตา’ อนาคตของเศรษฐกิจไทย ว่าเราจะกล้าเปลี่ยนเพื่อให้ทันต่อเทรนด์โลก หรือเดินหน้าตามความคุ้นชินเดิม และเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกผ่านเว็บไซต์ Thairath Online
อ่านเพิ่มเติม:
Microsoft made the biggest renewable energy agreement ever to fuel its AI ambitions
Microsoft will be carbon negative by 2030
Big tech’s great AI power grab