พลังงานแสงอาทิตย์แพงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลจริงหรือ?
ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่เคยยึดติดกับความคิดที่ว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นทางเลือกราคาแพงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันคือวันที่รัสเซียตัดสินใจรุกรานยูเครนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้ตลาดก๊าซทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยที่ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซเป็นสัดส่วนสูงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าไทยจะสามารถผลิตก๊าซเองได้บางส่วน แต่ราคาจำหน่ายเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าก็ผันผวนไปตามตลาดโลก นี่คือสาเหตุที่ราคาไฟฟ้าไทยพุ่งทะลุไปเกิน 5 บาทต่อหน่วยซึ่งนับว่าสูงเป็นประวัติการณ์! ในฐานะนักการเงิน ผมพยายามหาทางออกในระยะยาว แต่น่าเสียดายที่ตลาดไฟฟ้าของไทยเป็นระบบผูกขาดโดยรัฐวิสาหกิจ ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ จึงถูก ‘มัดมือชก’ ทำให้มีทางเลือกเพียงหนึ่งเดียวที่เหลือคือต้องหาทางผลิตไฟฟ้าด้วยตนเอง ผมจึงหันมามองศึกษาต้นทุนการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันเพื่อประกอบการตัดสินใจ แม้ว่าภาพจำของพลังงานแสงอาทิตย์คือการที่รัฐรับซื้อในราคามากกว่า 6 บาทเมื่อราวทศวรรษก่อน แต่เชื่อไหมครับว่าต้นทุนแผงพลังงานแสงอาทิตย์ถูกลงมาก องค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency) ประมาณการว่าต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงถึง 83 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 2010–2022 และถ้าหันไปดูราคารับซื้อของรัฐไทยเอง ก็พบว่าหล่นลงมาอยู่ที่ 2.20 บาท เท่ากับว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต่อหน่วยย่อมต่ำกว่าตัวเลขดังกล่าวอย่างแน่นอน แต่ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงสักบาทแบบนี้จะต้องคำนวณต้นทุนอย่างไร? ด้วยความฉงนสงสัย ผมก็ไปค้นจนได้คำตอบคือคำนวณจาก ‘ต้นทุนไฟฟ้าปรับระดับ’ (Levelized Cost of Energy) หรือที่เรียกกันอย่างแพร่หลายว่า LCOE ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเพื่อเปรียบเทียบว่าต้นทุนไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานใดราคาต่ำกว่ากัน LCOE คำนวณอย่างไร การผลิตไฟฟ้าของพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น แม้จะได้ ‘ไฟฟ้า’ เป็นผลผลิตเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างสำคัญคือพลังงานหมุนเวียนไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิง แต่โรงไฟฟ้าฟอสซิลต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงซึ่งมีราคาผันผวนตลอดเวลา เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ว่าโรงไฟฟ้าใดต้นทุนต่ำกว่า […]