ปรากฎการณ์เอลนีโญในปีนี้ทำให้ทั่วโลกรู้ว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ คือของจริง หลายประเทศทุบสถิติความร้อนไปตามๆ กัน แม้แต่ประเทศไทยเองก็เผชิญความร้อนอย่างถ้วนหน้าโดยในช่วงเดือนพฤษภาคมแตะทะลุ 40 องศาทั่วประเทศนำไปสู่ระดับการใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ น่าแปลกใจที่หลักฐานเชิงประจักษ์ตรงหน้ากลับไม่ช่วยทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนรวดเร็วขึ้น ทั้งที่เทคโนโลยีทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานลมจะราคาถูกลงอย่างมาก แต่อัตราการเติบโตของภาคพลังงานดังกล่าวในประเทศไทยในช่วงห้าปีหลังเรียกได้ว่าค่อนข้างคงที่ หากเทียบกับเวียดนามที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไทยเคยเป็นผู้นำของภูมิภาค แต่ปัจจุบันเวียดนามกลับสามารถเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งจนมากกว่าไทยถึง 5 เท่าตัว น่าแปลกใจที่รัฐบาลไทยดูจะให้ความสำคัญกับการซื้อพลังงานน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระดับหายนะ หรือการสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีข้อกังขาหลายประการถึงความยั่งยืนในแง่การแก่งแย่งทรัพยากรน้ำและที่ดินในการใช้ปลูกพืชอาหาร แต่กลับมองข้ามพลังงานศักยภาพสูงอย่างแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านเรือน ในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา บ้านผู้เขียนเองก็เผชิญกับค่าไฟที่พุ่งสูงจนต้องมองหาทางออกใหม่นั่นคือการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา แต่เมื่อเห็นราคาก็ต้องปาดเหงื่อ เพราะหากจะติดตั้งให้สมน้ำสมเนื้อกับการใช้ไฟฟ้าก็ต้องใช้ทุนรอนหลักแสนโดยใช้ระยะเวลาคืนทุนร่วมสิบปี นี่คือหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่อาจทำให้โครงการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านของผมและอีกหลายคนไม่สามารถกลายเป็นความจริง แต่ปัญหาดังกล่าวก็ใช่ว่าจะไร้ทางออก เพราะสามารถคลี่คลายได้ด้วยนวัตกรรมทางการเงินซึ่งประสบความสำเร็จในหลายประเทศ อุปสรรคของพลังงานหมุนเวียนสำหรับรายย่อย อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมจึงไม่เลือกใช้ช่องทางจัดหาเงินทั่วไป เช่น การกู้ธนาคารพาณิชย์ สำหรับเป็นเงินทุนในการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ สาเหตุก็เนื่องจากช่องทางเหล่านั้นไม่ตอบโจทย์สำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลซึ่งโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนแบบพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ หากมองในมุมของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ต้นทุนในการทำธุรกรรมปล่อยสินเชื่อโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กนั้นไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายแถมยังใช้เวลาคืนทุนที่ยาวนาน โครงการเช่นนี้จึงจัดเป็นโครงการประเภทที่มีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนต่ำอย่างยิ่ง เหล่านายธนาคารจึงมองหาทางเลือกอื่นที่ผลตอบแทนดีกว่า นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังต้องใช้ข้อมูลการชำระหนี้ในอดีตจำนวนมากของโครงการลักษณะเดียวกันเพื่อประเมินความเสี่ยง แต่ด้วยความที่โครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กนับเป็นเรื่องใหม่มากๆ ธนาคารจึงต้องประเมินความเสี่ยงให้สูงไว้ก่อนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง กลายเป็นว่าสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติก็อาจมาพร้อมกับดอกเบี้ยที่สูงลิ่วจนไม่ดึงดูดใจผู้ที่มาขอสินเชื่อเช่นกัน อุปสรรคของโครงการพลังงานหมุนเวียนสำหรับรายย่อยไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องการขอสินเชื่อเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องปัญหาระหว่างผู้เช่ากับเจ้าของสินทรัพย์ (Landlord-Tenant Problems) อีกด้วย สมมติว่ามีบ้านเช่าหลังหนึ่งต้องการติดแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา คำถามที่ตามมาคือใครต้องเป็นผู้ที่จ่ายเงินลงทุนค่าติดตั้งดังกล่าว หากมองในมุมของเจ้าของบ้านเช่า การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ย่อมเป็นการปรับปรุงอาคารที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เจ้าของบ้านจะไม่ได้เป็นผู้รับประโยชน์ในระยะสั้น เนื่องจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้เช่า ถึงแม้ว่าผู้เช่าจะได้ประโยชน์ทางตรง […]
โดย
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์วันที่